รีเซต

โลกเดือดไม่ไหว! รวม 3 เทคโนโลยีลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก | TNN Tech Reports

โลกเดือดไม่ไหว! รวม 3 เทคโนโลยีลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก | TNN Tech Reports
TNN ช่อง16
7 กรกฎาคม 2567 ( 16:05 )
53



ปัญหาใหญ่ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ ณ ขณะนี้ คือ “ภาวะโลกเดือด” หรือสถานการณ์ที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง อุณหภูมิสูงขึ้นมากหรือต่ำลงมาก กระทบต่อความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตบนโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยหนึ่งในสาเหตุหลักคือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์


ดังนั้น จึงมีความพยายามจากนักพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่ได้คิดค้นและสร้างสรรค์นวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้ 


โรงงานดูดคาร์บอนไดออกไซด์ใหญ่ที่สุดในโลก


ไคลม์เวิร์คส์ (Climeworks) บริษัทด้านสิ่งแวดล้อมสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ ได้ทำการก่อตั้งโรงงาน ที่มีชื่อว่า แมมมอธ (Mammoth) ขึ้นในประเทศไอซ์แลนด์ โรงงานแห่งนี้สามารถดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศได้มากถึง 36,000 เมตริกตันต่อปี 


โดยบริษัทจะใช้วิธีการกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บอากาศโดยตรง Direct Air Capture หรือ DAC เป็นเทคโนโลยีที่ออกแบบมาเพื่อดูดอากาศและดึงคาร์บอนออกโดยใช้สารเคมี จากนั้นคาร์บอนจะถูกสูบลงไปใต้พื้นดิน เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ หรือเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นของแข็งได้


ในโรงงานได้ติดตั้งพัดลมขนาดใหญ่ ไว้มากถึง 72 ตัว เพื่อช่วยดูดอากาศผ่านตัวกรองเพื่อดักจับอนุภาคคาร์บอนไดออกไซด์ จากนั้นเมื่อตัวกรองเต็ม ก็จะปิดรับอากาศ แล้วเพิ่มอุณหภูมิตัวกรองให้สูงขึ้นถึง 100 องศาเซลเซียส แล้วสกัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากไอน้ำ แปลงให้เป็นสารละลายส่งไปตามท่อ เพื่อสูบเก็บไว้ใต้ดิน ลึกราว 700 เมตร


สารละลายที่ว่านี้จะทำปฏิกิริยากับแมกนีเซียม แคลเซียม และเหล็กในหิน จนเกิดเป็นผลึก กลายเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นของแข็งต่อไป


บ้านชีวภาพพิมพ์ 3 มิติ


ไบโอโฮมทรีดี (BioHome3D) คือบ้านชีวภาพที่สร้างขึ้นจากเทคโนโลยีพิมพ์ 3 มิติต้นแบบขนาด 600 ตารางฟุต หรือ 55 ตารางเมตร โดยความพิเศษคือบ้านหลังนี้ มีพื้น ผนัง และหลังคา ที่พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ และใช้วัสดุในการพิมพ์ทั้งหมดจากเส้นใยไม้เหลือใช้จากอุตสาหกรรมไม้ และเรซินชีวภาพ ซึ่งทำให้บ้านหลังนี้สามารถนำไปรีไซเคิลได้ทั้งหลัง


ตัวเครื่องพิมพ์ที่ใช้ในการสร้างบ้านต้นแบบหลังนี้ มีชื่อว่า Factory of the Future 1.0 หรือ FOF 1.0 ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อจัดการกับปัญหาการขาดแคลนบ้าน และคนงานก่อสร้างในสหรัฐอเมริกา ด้วยความสามารถในการพิมพ์ที่อยู่อาศัยได้สำเร็จภายในเวลาไม่กี่วัน โดยระบุว่าสามารถพิมพ์เสร็จภายในเวลาประมาณ 80 ชั่วโมงเท่านั้น 


จากนั้นจึงสามารถนำโครงสร้างที่ได้ ไปติดตั้งที่ไซต์งานได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง โดยตัวโครงสร้างที่อยู่อาศัย จะได้รับการติดตั้งสายไฟและเซนเซอร์ที่จำเป็นทั้งหมดไว้ล่วงหน้า เพื่อให้สะดวกกับการใช้งาน 


โดยกลุ่มบ้านชีวภาพพิมพ์ 3 มิติที่จะสร้างขึ้นนี้ จะประกอบด้วยบ้านจำนวน 9 หลังด้วยกัน เพื่อเป็นที่พักให้กับคนไร้บ้าน และด้วยคุณสมบัติของบ้านหลังนี้ยังช่วยลดการปล่อยคาร์บอนจากวัสดุ และกระบวนการที่ใช้ในการก่อสร้างแบบเดิม ๆ ได้ด้วย


มิติใหม่ ! รถยนต์ผสมจักรยาน


การ์ไบค์ (Karbikes) บริษัทสตาร์ตอัปในประเทศฝรั่งเศส ได้ทำการสร้างยานพาหนะ ที่เป็นลูกผสมระหว่างจักรยาน และรถยนต์ขนาดเล็ก โดยมีลักษณะเป็นยานพาหนะแบบ 4 ล้อ ที่รองรับได้ 2 ที่นั่ง หน้าตาภายนอกดูคล้ายกับรถกอล์ฟ โดยมีกระจกบังลม และตัวถังที่ทำให้ดูเหมือนรถขนาดเล็ก แต่ภายในจะมีคันเหยียบ สำหรับปั่นคล้ายจักรยาน เพื่อให้พลังงานขับเคลื่อนตัวรถ ร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 250 วัตต์ (W) และแบตเตอรี่ขนาด 750 วัตต์-ชั่วโมง (Wh) มีระยะทางเริ่มต้นที่ 75 กิโลเมตร


ส่วนด้านสมรรถนะ รถคันนี้จะถูกจำกัดความเร็วไว้ที่ประมาณ 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และให้แรงบิดประมาณ 130 นิวตันเมตร ใช้ปีนขึ้นเนินเขาได้ แม้ในขณะที่บรรทุกของหนัก


โครงสร้างรถจะทำจากโครงเหล็ก หลังคาอะลูมิเนียม กระจกบังลมที่ทำจากโพลีคาร์บอเนตที่ไม่แตกหักง่าย และยังมีตัวเลือกให้ติดตั้งประตูเสริมที่สามารถล็อกได้ เพื่อปกป้องผู้ขับขี่จากลมและฝน รวมถึงระบบสัญญาณเตือนภัย แตร ไฟเบรก และไฟกะพริบ เพื่อเพิ่มเสถียรภาพและความปลอดภัยในระหว่างการขับขี่


ในแง่ของขนาดรถคันนี้ มีความกว้างเพียง 80 เซนติเมตร ซึ่งบริษัทระบุว่าช่วยให้ควบคุมรถได้ง่ายและเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในเมือง ใช้ได้ทั้งบนเส้นทางจักรยานและถนน และยังสามารถติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เป็นอุปกรณ์เสริมสำหรับให้พลังงานในการขับขี่ได้ด้วย


อย่างไรก็ตาม น่าเสียดายที่ตอนนี้ ยังไม่มีการประกาศราคาจำหน่ายออกมา ถ้าใครที่สนใจก็อาจต้องรอไปก่อน

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง