ตัดแต้มใบขับขี่ เมาแล้วขับ จะตรวจหาระดับแอลกอฮอล์ในเลือด ได้อย่างไร?
เริ่มใช้ ระบบตัดคะแนนความประพฤติในการขับรถ หรือ ตัดแต้มใบขับขี่ เพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนน สร้างวินัยขับขี่ปลอดภัย ให้โอกาสแก้ไขไม่ทำผิดซ้ำ หนึ่งในความผิดที่ถูกตัดแต้มมากที่สุดนั่นก็คือ เมาแล้วขับ ซึ่งถูกตัดแต้มสูงสุดถึง 4 แต้ม เราจะรู้ได้ยังว่ามีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดมากเท่าไหร่ trueID มีคำตอบมาให้ทุกคนแล้ว
- เช็คข้อหาอะไรบ้าง? อาชีพคนขับรถสาธารณะ-รถขนส่ง ฝ่าฝืน ถูก 'ตัดแต้มใบขับขี่' ได้
- วิธีขอคะแนนแต้มใบขับขี่คืน หลังถูก "ตัดแต้มใบขับขี่" แท็กซี่ วิน คนขับรถเมล์ รถสาธารณะ
วิธีการตรวจหาระดับแอลกอฮอล์ในเลือด
วิธีการตรวจหาระดับแอลกอฮอล์ในเลือดในปัจจุบัน ทำได้ 3 วิธีหลักๆ คือ
- ทางลมหายใจ โดยให้ผู้ดื่มสุราเป่าลมหายใจเข้าไปใน เครื่องตรวจหาระดับแอลกอฮอล์ ในเลือดทางลมหายใจ ตัวเลขที่ปรากฎบนจอของเครื่องจะบอกระดับแอลกอฮอล์ในเลือด หน่วยเป็นมิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์
- ทางเลือด โดยการเจาะเลือดจากผู้ดื่มสุราแล้วส่งตรวจหาระดับแอลกอฮอล์ในเลือดโดยตรงในห้องปฏิบัติการผู้ตรวจวิเคราะห์ต้องมีความชำนาญเฉพาะทาง ผลที่ได้มีความถูกต้องมาก
- ทางปัสสวะ โดยการเก็บตัวอย่างปัสสาวะจากผู้ที่ดื่มสุรา แล้วนำปัสสาวะนั้นส่งตรวจหาระดับแอลกอฮอล์ในเลือดในห้องปฏิบัติการผลที่ได้มีความถูกต้องใกล้เคียงกับในเลือด
ทำไมตรวจเป่าระดับแอลกอฮอล์จากลมหายใจแต่ค่าที่ได้เป็นค่าระดับในเลือด?
โดยทั่วไปการใช้เครื่องตรวจเป่าแอลกอฮอล์จากลมหายใจ (Breathalyzer) จะนิยมให้เครื่องคำนวณและรายงานค่าออกมาเป็นค่าในเลือด (อาจแสดงหน่วยเป็น mg% หรือ mg/dl หรือ g/dl) เพื่อความสะดวกในการแปลผล คือใช้ดูระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเทียบกับอาการเมาสุราที่เกิดขึ้นได้ แต่หากเครื่องไม่สามารถคำนวณค่าได้ เราก็สามารถคำนวณระดับแอลกอฮอล์ในลมหายใจออกให้เป็นระดับแอลกอฮอล์ในเลือดได้เองโดยใช้ค่าสัมประสิทธิ์ในการแปลงค่า ซึ่งตามกฎหมายของประเทศไทยนั้นให้ใช้ค่าเท่ากับ 2,000 หมายถึงกำหนดให้สัดส่วนปริมาณแอลกอฮอล์ที่ตรวจพบในเลือดต่อปริมาณแอลกอฮอล์ในลมหายใจออก (Blood : Breath ratio) นั้นเท่ากับ 2,000 : 1 เช่น ตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในลมหายใจออกได้เท่ากับ 0.25 mg/l จะเทียบเท่ากับระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเท่ากับ 500 mg/l (ซึ่งเทียบเคียงได้กับ 50 mg/dl และ 50 mg% นั่นเอง)
การตรวจพิสูจน์ว่า “เมา” มีวิธีอื่นอีกไหม?
นอกเหนือจากการตรวจหาระดับแอลกอฮอล์ในเลือดด้วยวิธีการหลัก 3 วิธีดังกล่าวมาแล้วยังมีวิธีการตรวจเพื่อพิสูจน์ว่า “เมา” หรือไม่นั้นได้อีกหลายวิธี และไม่ต้องใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือใดๆ โดยการสังเกต ดังนี้
- กลิ่นสุรา จากลมหายใจ หรือเสื้อผ้า
- การเดินไม่ตรงทาง
- การพูดจาอ้อแอ้ ไม่สื่อความหมาย
- การขับรถเร็ว หรือช้า โดยไม่มีเหตุผล
- การขับรถในอัตราเร็วไม่คงที่
- การหยุดรถไม่ถูกจังหวะ ไม่เรียบร้อย
- การแซงหรือสวนรถในขณะที่ยังไม่สมควร หรือหักหลบมากเกินสมควรเมื่อมีรถผ่าน
- ไม่ปฏิบัติตามกฎจารจร
- ขับรถในเวลากลางคืนไม่เปิดไฟ
- ขับเกียร์ต่ำตลอด หรือเปลี่ยนเกียร์บ่อยๆ โดยไม่มีเหตุผล
- ขับรถไม่ตรงทาง ส่ายไปมา
- ขับรถเปลี่ยนช่องทางบ่อยๆ
ตารางแสดงความสัมพันธ์ระหว่างระดับแอลกอฮอล์ในเลือดกับอาการแสดงของผู้ที่ดื่มสุรา
ระดับแอลกอฮอล์ในเลือด (มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์) | อาการแสดง |
---|---|
30 | สนุกสนาน ร่าเริง |
50 | เสียการควบคุมการเคลื่อนไหว |
100 | เดินไม่ตรงทาง |
200 | สับสน |
300 | ง่วงซึม |
400 | สลบและอาจถึงตาย |
ทำผิดแบบไหน ตัดกี่แต้ม
สำหรับการตัดคะแนนเมื่อทำความผิดที่เป็นปัจจัยในการเกิดอุบัติเหตุ ตาม 20 ฐานความผิด จะถูกตัดคะแนนเมื่อทำผิดทันที โดยแบ่งเป็น
แบบที่ 1 "ตัดคะแนนทันทีที่ทำผิด" โดยแต่ละฐานความผิด จะถูกหักแต้มแตกต่างกัน
ตัด 1 คะแนน
- ใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ
- ไม่สวมหมวกนิรภัย
- ไม่รัดเข็มขัดนิรภัย
- ขับรถเร็วเกินกำหนด
- ขับรถบนทางเท้า
- ไม่หยุดให้คนข้ามทางม้าลาย
- ไม่หลบรถฉุกเฉิน
- ขับรถโดยประมาท น่าหวาดเสียว
- ขับรถไม่ติดป้ายทะเบียน หรือเปลี่ยนแปลง ปิดบัง
- ไม่ติดป้ายภาษี
ตัด 2 คะแนน
- ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร
- ขับรถย้อนศร
- ขับรถระหว่างโดนพักใช้ หรือเพิกถอนใบขับขี่
ตัด 3 คะแนน
- ขับรถในขณะหย่อนความสามารถ
- ขับรถผิดวิสัยคนขับรถธรรมดา
- ขับรถชนแล้วหนี
ตัด 4 คะแนน
- เมาแล้วขับ
- ขับรถในขณะเสพยาเสพติด
- แข่งรถในทางโดยไม่ได้รับอนุญาต
- ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อื่น
แบบที่ 2 "ตัดคะแนนเมื่อไม่ชำระค่าปรับตามใบสั่ง" ค้างชำระ 1 ใบสั่ง ตัด 1 คะแนน
- ฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจรในทาง
- จอดในที่ห้ามจอด
- ไม่แสดงใบอนุญาตขับขี่ขณะขับรถ
- ขับรถไม่ชิดซ้าย
ข้อมูล มูลนิธิสัมมาอาชีวะ , คลังข้อมูลและความรู้ระบบสุขภาพ
--------------------
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก
ทุกประเด็นร้อนข่าวสาร สาระ ทันเหตุการณ์ พูดคุยกันได้ 24 ชม.
คลิกเลย >>> TrueID Community <<<