รู้จัก 5 สายพันธุ์โควิด-19 ในไทย ที่กลายพันธุ์เร็วที่สุด!
รู้หรือไม่ ในประเทศไทยมีสายพันธุ์โควิด-19 ที่กำลังระบาดมากถึง 5 สายพันธุ์ ซึ่งไม่ได้มีแค่สายพันธุ์เดลต้า อัลฟา เบต้า แต่ยังมีสายพันธุ์ที่เราอาจจะเคยได้ยิน หรืออาจไม่เคยได้ยินมาก่อนเลยก็ได้ โดย TrueID จะพาไปรู้จักกับสายพันธุ์โควิด-19 ในไทย ที่ต้องจับตาและป้องกันไว้ก่อนจะเกิดการระบาดหนัก
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ ในกำกับของศูนย์สนับสนุนพันธกิจ คณะแพทยศาสตร์ รพ. รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ระบุสายพันธุ์โควิด-19 ที่มีการกลายพันธุ์รวดเร็วที่สุดในไทยไว้ทั้งหมด 5 สายพันธุ์ โดยจัดอันดับการกลายพันธุ์ไว้ ดังนี้
สายพันธุ์ไวรัสก่อโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใดกลายพันธุ์รวดเร็วที่สุดในประเทศไทย
อันดับ 1 สายพันธุ์เดลตา/B.1.617.2 (อินเดีย) ต่างจากสายพันธุ์ดั้งเดิม 48 ตำแหน่งจาก 3 หมื่นตำแหน่ง
อันดับ 2 สายพันธุ์อัลฟา/B.1.1.7 (อังกฤษ) ต่างจากสายพันธุ์ดั้งเดิม 45 ตำแหน่งจาก 3 หมื่นตำแหน่ง
อันดับ 3 สายพันธุ์เบตา/B.1.351 (แอฟริกาใต้) ต่างจากสายพันธุ์ดั้งเดิม 34 ตำแหน่งจาก 3 หมื่นตำแหน่ง
อันดับ 4 สายพันธุ์ B.1.36.16 (ปทุมธานี/สมุทรสาคร) ต่างจากสายพันธุ์ดั้งเดิม 27 ตำแหน่งจาก 3 หมื่นตำแหน่ง ใกล้จะสูญพันธุ์
อันดับ 5 สายพันธุ์ A.6 (คลัสเตอร์สนามมวย) ต่างจากสายพันธุ์ดั้งเดิม 12 ตำแหน่งจาก 3 หมื่นตำแหน่ง สูญพันธุ์ไปแล้ว
การกลายพันธุ์อย่างรวดเร็วภายในท้องถิ่น หรือประเทศ เกิดขึ้นได้เนื่องจากมีการติดต่อระหว่างคนสู่คนอย่างรวดเร็วและแพร่เป็นวงกว้างอย่างไร้การควบคุม หรือควบคุมไม่ได้
จากถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมไวรัสก่อโรคโควิด-19 ในประเทศไทยจำนวน 1,562 ตัวอย่างจากทั่วประเทศ (28 มิ.ย. 64)ของศูนย์จีโนมทางการแพทย์ พบว่า “สายพันธุ์เดลต้า" มีการกลายพันธุ์สูงที่สุดคือ 48 ตำแหน่งจาก 30,000 ตำแหน่ง เมื่อเทียบกับ "สายพันธุ์อัลฟา" ซึ่งกลายพันธุ์ไปเพียง 43 ตำแหน่ง คาดว่าจะเข้ามาแทนที่สายพันธุ์ "สายพันธุ์อัลฟา" ในเวลา 2-3 เดือนหลังจาก มิ.ย. 2564 เป็นต้นไป
หนึ่งในทางแก้คือ "วัคซีนชนิด mRNA" ควรต้องนำมาฉีดเป็นวัคซีนหลักเพื่อป้องกันการระบาดของสายพันธุ์อินเดีย หากนำมาฉีดเป็นเข็มแรกอาจผ่อนหนักเป็นเบา เพื่อให้สามารถลดจำนวนผู้ติด ผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตด้วยโควิด-19 ได้มากกว่าวัคซีนเชื้อตายที่ใช้กันอยู่ในขณะนี้
สายพันธุ์เดลต้ายึดไทย
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุถึง สายพันธุ์โควิดที่เฝ้าระวังในไทย ว่า ตั้งแต่ วันที่ 1 เมษายน พบว่า สายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร ที่กระจายเกือบทุกเขตแล้ว 52% ทำให้ขณะนี้สายพันธุ์เดลต้า เป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดในกรุงเทพมหานครแทนสายพันธุ์อัลฟ่าแล้ว
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางกรมวิทย์ฯ ได้ตรวจสอบสายพันธุ์ในภาพรวมประเทศ พบว่า “สายพันธุ์เดลตา” ขึ้นมาเป็น 32.2% ส่วนใหญ่อยู่ในกทม. และจังหวัดปริมณฑล ในขณะที่ต่างจังหวัดพบแล้ว 18% ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยพบใน 47 จังหวัด พื้นที่ภาคใต้เดิมไม่มีเดลตา ล่าสุด พบอยู่ในหลายจังหวัด เช่น สุราษฎร์ธานี เป็นต้น ขณะที่ภาคอีสาน จังหวัดอุดรธานี ที่สายพันธุ์เดลตาพบค่อนข้ามมาก
สายพันธุ์เบต้า กระจายเพิ่มขึ้น
สายพันธุ์เบต้าจะเห็นว่าในสัปดาห์นี้ เพิ่มมา 50 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดนราธิวาส โดยพบการกระจายไปยังจังหวัดใกล้เคียง เช่น สุราษฎร์ธานี มี 1 ราย นครศรีธรรมราช 3 ราย กระบี่ 1 ราย ในกรุงเทพฯ เพิ่ม 2 ราย ซึ่งเป็นญาติรายแรกที่พบครั้งที่แล้วโดยยังไม่มีการกระจายไปยังพื้นที่อื่น ภาพรวมในกรุงเทพฯมีสายพันธุ์เบต้า 3 ราย
ทางออกหยุดโควิดกลายพันธุ์คือ "วัคซีน mRNA"
วัคซีนที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีที่สุดตอนนี้ คือ วัคซีนชนิด mRNA ซึ่งจะมีภูมิต้านทานขึ้นระดับ 1,000-2,000 หรือสูงสุด คือหลักหมื่น รองลงมา คือ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า วัคซีนชนิดไวรัลเวกเตอร์ ภูมิจะขึ้นประมาณหลักพันต้นๆ ส่วนซิโนแวคภูมิขึ้นประมาณหลักร้อยปลาย
และตอนนี้มีวัคซีน 2 ยี่ห้อที่เป็นชนิด mRNA นั่นก็คือ วัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นา และไทยเองก็กำลังผลิตวัคซีนชนิด mRNA เป็นของตัวเอง คือ ChulaCov19 โดยไฟเซอร์และโมเดอร์นา มีแนวโน้มเข้าไทยช่วงปลายปีถึงต้นปีหน้า และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ฉีดเป็นวัคซีนบูสเตอร์โดส เข็มที่ 3 เพื่อการป้องกันโควิดกลายพันธุ์
วัคซีนไฟเซอร์ ป้องกันสายพันธุ์เดลต้า ลดลงจาก 93% เหลือ 88%
วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ป้องกันสายพันธุ์เดลต้าลดลงจาก 66% เหลือ 60%
แต่ทั้งนี้สามารถช่วยป้องกันการอยู่โรงพยาบาล ป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงได้ โดยวัคซีนไฟเซอร์ป้องกันได้ถึง 96% ส่วนแอสตร้าเซนเนก้าป้องกันได้ 92%
ขณะที่ ซิโนแวค พบว่า อาจป้องกันสายพันธุ์เดลต้าได้ไม่ดี แต่หากฉีดครบ 2 เข็ม จะป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง เข้าโรงพยาบาล หรือป้องกันเสียชีวิตได้มากกว่า 90%
ข้อมูลจาก ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ , TNN , กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ , กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
--------------------
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- วัคซีนชนิด mRNA “ไฟเซอร์-โมเดอร์นา” ต้องฉีดต่อจาก แอสตร้าฯ ป้องกันกลายพันธุ์
- "วัคซีนป้องกันโควิดกลายพันธุ์" ที่ไทยต้องมีต้านสายพันธุ์เดลต้า-อัลฟา ที่ระบาดหนัก!
- ความคืบหน้านำเข้า “วัคซีนโมเดอร์นา” ตอนนี้อยู่ไหนแล้ว
- ส่องวัคซีนโควิด-19 “โมเดอร์นา- Moderna” หลังอย.ขึ้นทะเบียนในไทยแล้ว!
- ไฟเซอร์มาไทยแน่! เจาะลึกประสิทธิภาพ "วัคซีนไฟเซอร์-Pfizer" ที่ใครๆก็อยากฉีด
- เทียบให้ชัด! ผลข้างเคียงหลังฉีด "วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า" และ "วัคซีนซิโนแวค"
- เช็ก! ประสิทธิภาพ “แอสตราเซเนกา” หลังลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด 19 แล้วพร้อมฉีดเลย
- รู้จัก “วัคซีนซิโนแวค” หลัง WHO รับรองใช้ป้องกันโควิด-19