รีเซต

ฟอสซิลงู 34 ล้านปี หลักฐานใหม่ด้านวิวัฒนาการงูทวีปอเมริกา

ฟอสซิลงู 34 ล้านปี หลักฐานใหม่ด้านวิวัฒนาการงูทวีปอเมริกา
TNN ช่อง16
29 กรกฎาคม 2567 ( 23:55 )
29
ฟอสซิลงู 34 ล้านปี หลักฐานใหม่ด้านวิวัฒนาการงูทวีปอเมริกา

นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแอริโซนา ขุดค้นพบฟอสซิลงูสายพันธุ์ใหม่ ในรัฐไวโอมิง สหรัฐอเมริกา ชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ ไฮเบอร์โนฟิส เบรธอพติ (Hibernophis breithaupti) ฟอสซิลงูถูกพบในโพรง และในโพรงนี้มีงูมากถึง 4 ตัวพันกัน และเก็บรักษาซากไว้ในหินอย่างดีนานหลายปี โดยคาดว่ามันมีชีวิตอยู่บริเวณทวีปอเมริกาเหนือ เมื่อ 34 ล้านปีก่อน และกำลังทำให้ความเข้าใจของมนุษย์เกี่ยวกับวิวัฒนาการของงูเปลี่ยนไป




การค้นพบนี้ให้ข้อมูลเชิงลึกอันมีค่าเกี่ยวกับต้นกำเนิดและความหลากหลายของวงศ์งูโบอา (Boas) และวงศ์งูเหลือม (Pythons) โดย Hibernophis breithaupti มีลักษณะทางกายวิภาคที่แตกต่างจากงูทุกชนิด เนื่องจากมันมีข้อต่อ ซึ่งหมายความว่า พบตัวงูเป็นชิ้นเดียวกันทั้งหมด โดยมีกระดูกเรียงต่อกันในลำดับที่ถูกต้อง ซึ่งถือเป็นเรื่องแปลกสำหรับฟอสซิลงู นักวิจัยเชื่อว่า อาจจะเป็นสมาชิกยุคแรกของวงศ์ใหญ่ (Superfamily) บอยเดีย (Booidea) ซึ่งเป็นกลุ่มที่รวมทั้งงูโบอาและงูเหลือมสมัยปัจจุบัน ทั้งนี้ในปัจจุบันงูโบอาสมัยใหม่แพร่กระจายอยู่ในทวีปอเมริกา แต่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ค่อยเข้าใจเกี่ยวกับวิวัฒนาการของมัน ดังนั้นฟอสซิลที่สมบูรณ์ชิ้นนี้จึงช่วยเพิ่มข้อมูลใหม่เกี่ยวกับวิวัฒนาการของงู โดยเฉพาะงูเผ่าพันธุ์รับเบอร์โบอา (Rubber Boas) ซึ่งเป็นงูขนาดเล็กและขุดหลุมอาศัยอยู่


ข้อมูลเชิงลึกด้านพฤติกรรมและความสำคัญทางประวัติศาสตร์

ในปัจจุบันมีการถกเถียงกันในหมู่นักวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับวิวัฒนาการของงูโบอาขนาดเล็กที่ขุดรูอยู่ แต่การพบหลักฐานฟอสซิล Hibernophis breithaupti ชี้ให้เห็นว่าพื้นที่ตอนเหนือและตอนกลางของอเมริกาเหนือ อาจเป็นพื้นที่สำคัญในการที่งูโบอาขนาดเล็กวิวัฒนาการ 


การค้นพบฟอสซิลงูเหล่านี้ที่ขดตัวกันอยู่ยังอาจชี้ให้เห็นอีกหนึ่งพฤติกรรมของงู ที่เราเห็นกันอยู่บ้างในปัจจุบัน นั่นก็คือการจำศีลเป็นกลุ่ม


ไมเคิล คาลด์เวลล์ (Michael Caldwell) นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแอริโซนา ซึ่งเป็นผู้นำการวิจัยกล่าวว่า “งูการ์เทอร์ (ชื่อสามัญของงูไม่มีพิษขนาดเล็ก - ขนาดกลาง สกุลแทมโนฟิส (Thamnophis) ในวงศ์โคลูบริดี (Colubridae)) ในปัจจุบัน เป็นที่รู้จักในการรวมตัวกันจำนวนมากในถ้ำและโพรงเพื่อจำศีล พวกมันทำเช่นนี้เพื่อรักษาความอบอุ่น ดังนั้นการที่เราค้นพบฟอสซิลครั้งนี้ จึงเป็นเรื่องน่าสนใจ เพราะมันอาจเป็นหลักฐานที่เป็นไปได้ของพฤติกรรมทางสังคมของงู ว่าการจำศีลแบบกลุ่มอาจย้อนกลับไปตั้งแต่เมื่อ 34 ล้านปีที่แล้ว”


งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Zoological Journal of the Linnean Society ฉบับวันที่ 19 มิถุนายน 2024


ที่มาข้อมูล Scitechdaily, Academic

ที่มารูปภาพ Eurekalert

ข่าวที่เกี่ยวข้อง