นักวิทยาศาสตร์ค้นพบ "เซรุ่มแก้พิษงู" จาก "เลือด" ของผู้ถูกงูกัดกว่า 200 ครั้งแต่ไม่ตาย

นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันจากบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ Centivax ค้นพบเซรุ่มป้องกันพิษงูโดยสกัดมาจากเลือดของนาย “ทิม ฟรีด” อดีตช่างซ่อมรถบรรทุกชาวอเมริกันคนหนึ่งที่เคยถูกงูกัดมากกว่า 200 ครั้ง ในช่วงเกือบ 20 ปี แต่เขารอดชีวิตมาได้ถูกครั้งซึ่งนักวิทยาศาสตร์เรียกว่าเซรุ่มนี้เป็นยาแก้พิษที่ไม่เคยมีใครเทียบได้ซึ่งการทดสอบแอนติบอดีที่พบในเลือดของนายฟรีด แสดงให้เห็นว่าสามารถป้องกันพิษที่ร้ายแรงในปริมาณมากจากงูแต่ละสายพันธุ์โดยเฉพาะกับสายพันธุ์งูที่เคยกัดทำร้ายเขาทุกชนิด
นักวิทยาศาสตร์เปิดเผยว่านี่อาจเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้ค้นพบ “เซรุ่มแก้พิษงูสากล” ที่จะช่วยชีวิตมนุษย์จากสถิติอัตราการเสียชีวิตจากพิษงูที่มีมากถึง 14,000 คนต่อปี ยังไม่รวมผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากพิษงูและต้องสูญเสียอวัยวะหรือพิการอีกถึงสามเท่าของจำนวนนี้
ทิม ฟรีด ถูกงูกัดมากกว่า 200 ครั้ง ด้วยสายพันธุ์งูหลากหลายชนิด รวมไปถึงงูสายพันธุ์ที่อันตรายที่สุดในโลกอย่างงูแมมบ้า, งูเห่า, งูไทปัน งูสามเหลี่ยมและอีกมากมาย ทำให้เขาได้รับ เซรุ่มป้องกันพิษงูกว่า 700 ครั้ง แต่มีครั้งหนึ่งที่เขาพลาดท่าเกือบเป็นเหยื่อของงู เมื่อเขาถูกงูเห่าทำร้ายเขา 2 ครั้งติดต่อกันและทำให้เขาบาดเจ็บรุนแรงถึงขั้นโคมาซึ่งเขาเรียกประสบการณ์ในครั้งนั้นว่าความผิดพลาดอย่างสมบูรณ์ นายฟรีดอธิบายว่า แรงจูงใจของเค้าในตอนนี้คือการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดบนโลกที่ได้รับความเจ็บปวดจากสัตว์ร้ายชนิดนี้ ด้วยการผลักดันให้เซรุ่มจากเลือดของเขาประสบความสำเร็จที่สุดเท่าที่จะทำได้
ดร. เจคอบ เกลนวิลล์ จาก Centivax กล่าวว่าเขาได้หารือกับทิม ฟรีด เกี่ยวกับความร่วมมือของพวกเขาที่จะผลิตเซรุ่มแก้พิษงูร่วมกัน ซึ่งเกลนวิลล์เผยความรู้สึกว่าทันทีที่ได้พบและพูดคุยเรื่องราวต่าง ๆ กับนายฟรีดเขาก็ตระหนักได้ทันทีว่าหากใครในโลกที่จะสามารถพัฒนาเซรุ่มแก้พิษงูแบบสากลได้มันควรจะเป็นนายฟรีดอย่างแน่นอน โดยทีมนักวิทยาศาสตร์ของ Centivax จะโฟกัสไปที่เซรุ่มป้องกันพิษงูตระกูล “งูพิษเขี้ยวหน้า” (elapids) ที่มีความร้ายแรงโดยพิษของพวกมันจะทำลายระบบประสาทในพิษเป็นหลักและทําให้เหยื่อเป็นอัมพาตหรืออันตรายถึงชีวิตเมื่อกล้ามเนื้อที่จําเป็นในการหายใจหยุดทำงานเพราะพิษของพวกมัน
นักวิทยาศาสตร์ได้เลือกงูในตระกูลนี้มาทั้งหมด 19 สายพันธุ์ที่องค์การอนามัยโลกระบุว่าเป็นจำพวกงูที่อันตรายที่สุดในโลก จากนั้นก็เริ่มนำเลือดของนายฟรีดเข้าสู่การทดลองและผลการทดลองในหนูแสดงให้เห็นว่าพวกมันรอดชีวิตจากงูพิษ 13 ชนิดจากทั้งหมด 19 ชนิด จึงทำให้ ดร. เกลนวิลล์ เรียกเซรุ่มของเขาว่า “ไม่มีใครเทียบได้” เพราะในปัจจุบันยังไม่มีเซรุ่มแก้พิษใดที่สามารถป้องกันและครอบคลุมพิษของงูตระกูลนี้
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการผลิตเซรุ่มแก้พิษงูทำได้โดยการฉีดพิษงูในปริมาณน้อยเข้าไปในสัตว์ อาทิ ม้า เพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันของพวกมันต่อสู้กับพิษของงู เมื่อร่างกายผลิตแอนติบอดีก็จะถูกเก็บไปเพื่อใช้สกัดการผลิตเซรุ่มแก้พิษงู แต่เซรุ่มแก้พิษงูและพิษงูที่ได้รับเมื่อถูกกัดจะต้องเข้ากันได้จึงจะทำให้การป้องกันเกิดประสิทธิภาพ ดังนั้นการศึกษาจากเลือดของผู้ที่ถูกงูหลากหลายชนิดทำร้ายแต่รอดมาได้จึงเป็นการศึกษาที่น่าสนใจและมีแนวโน้มประสบความสำเร็จจนกลายมาเป็นเซรุมแพ้พิษงูที่สามารถป้องกันงูสายพันธุ์ต่าง ๆ ได้
ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์คาดว่าในอีก 10 ถึง 15 ปีข้างหน้าโลกจะมีเซรุ่มที่เหมาะสมสำหรับพิษงูแต่ละชนิดพร้อม ๆ กับการศึกษาตัวอย่างเลือกของนายฟรีดที่จะยังคงดำเนินการต่อไปโดยพวกเขาเรียกเลือดของฟรีดว่ามีแอนติบอดีที่ค่อนข้างพิเศษมากจริง ๆ