รีเซต

รู้จัก "ยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir)" ยาต้านไวรัสโควิด ไม้ตายแทน "ฟาวิพิราเวียร์"

รู้จัก "ยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir)" ยาต้านไวรัสโควิด ไม้ตายแทน "ฟาวิพิราเวียร์"
Ingonn
6 สิงหาคม 2564 ( 13:04 )
2.6K

 

ยาต้านไวรัสโควิด-19 ที่เรามักคุ้นหูกัน อาจจะยาฟาวิพิราเวียร์ แต่จริงๆแล้วมียาอีกหนึ่งชนิด ที่ไทยได้นำมาใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 นั่นก็คือ ยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) ที่นำเข้ามาจากสหรัฐฯ และกระจายเข้าระบบการรักษาในตอนนี้แล้วทั้งโรงพยาบาลภาครัฐและโรงพยาบาลเอกชน 

 

 


แต่ประเด็นร้อนล่าสุดกลับมีกระแสเกิดขึ้น เมื่อพล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า งดเว้นการกระจายยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) พร้อมระบุข้อความว่า “ยาฉีดพิฆาต covid ที่ดื้อต่อฟาวิพิราเวียร์ วันนี้โดนห้ามขายให้เอกชน ยานี้โรงพยาบาลทุกแห่งควรต้องมีไว้ใช้กรณีคนไข้ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์แล้วไม่ตอบสนอง ถือเป็นไม้ตาย เดิมซื้อได้ในทั้งภาครัฐและเอกชนตอนนี้มีคำสั่ง 24 ก.ค. 64 จำกัดห้ามขายเอกชน ซึ่งจะทำให้คนไข้ที่จะเข้าถึงยาในภาคเอกชนยากขึ้นแน่นอน ควรหาทางป้องกัน ก่อนเกิดปัญหาขาดยาให้ผู้ป่วยเพราะระบบการเบิกจ่ายรัฐไม่รวดเร็วพอ

 

 


จากกระแสที่เกิดขึ้นมีทาง อย.ได้ออกมาชี้แจงเบื้องต้นแล้ว โดยนพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อมากขึ้น รวมทั้ง ข้อบ่งใช้มีการปรับเพิ่มมากขึ้น ทำให้ภาครัฐอาจไม่จำเป็นต้องช่วยการกระจายแล้ว เนื่องจากมีบริษัทที่สามารถจำหน่ายได้มากขึ้น ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้ เหตุการณ์ต่างๆเปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นข้อกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆก็เปลี่ยนไป ก็ต้องมีการปรับ โดยบริษัทสามารถไปขายให้ภาคเอกชนได้ แต่บริษัทยา แพทย์ หรือโรงพยาบาลนั้นที่ซื้อยาไป จะต้องมีการเฝ้าระวังหลังการกระจาย โดยรายงานการใช้ว่าใช้กับใคร ใช้ในข้อบ่งใช้อย่างไร ใช้แล้วคนไข้เป็นอย่างไรกลับมายังอย. เพราะยาตัวนี้เป็นการขึ้นทะเบียนแบบฉุกเฉิน การศึกษายังไม่ครบสมบูรณ์

 

 

 

วันนี้ TrueID จึงอยากจะพาทุกคนมารู้จักยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) ให้มากขึ้น ทั้งประสิทธิภาพและการใช้งาน เนื่องจากเป็นยาต้านไวรัสอีกชนิดที่ไทยใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19

 

 

 

รู้จักยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir)

 

ยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) พัฒนาโดยบริษัท Gilead Sciences ของสหรัฐฯ ในปี 2015 มีฤทธิ์ต้านไวรัสได้อย่างกว้างขวาง ผลการศึกษาในหลอดทดลองพบว่ายาเรมเดซิเวียร์มีฤทธิ์ยับยั้งไวรัสโรคซาร์ส (SARS-CoV), ไวรัสโรคเมอร์ส (MERS-CoV) และไวรัสโควิด-19 (SARS-CoV-2) โดยสารออกฤทธิ์ คือ GS-441524 จะขัดขวางการทำงานของเอนไซม์อาร์เอ็นเอพอลิเมอเรส (RNA polymerase) เอนไซม์นี้มีความสำคัญในการเพิ่มจำนวนไวรัส ดังนั้นเมื่อเอนไซม์ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ จึงยับยั้งการเพิ่มจำนวนไวรัส นอกจากนี้ยายังทำให้เกิดการสร้างสารพันธุกรรมอาร์เอนเอของไวรัสที่ผิดปกติและทำให้ไวรัสตาย คาดว่ายานี้มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างอื่นอีกรวมถึงอาจออกฤทธิ์ในขั้นตอนยับยั้งไวรัสไม่ให้เข้าสู่เซลล์ในร่างกายคน

 

ภาพจาก AFP โดย ULRICH PERREY / POOL / AFP

 


ผลการทดลอง มีประสิทธิภาพ


บริษัท Gilead เปิดเผยผลการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ด้วยการสุ่มทดลองให้ยาเรมเดซิเวียร์แก่ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง และอาการปานกลาง ในโรงพยาบาลและศูนย์การแพทย์ต่างๆ ของสหรัฐฯ เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยา โดยแบ่งเป็นการให้ยาในระยะเวลา 5 วัน และ 10 วัน

 

 

ซึ่งในกลุ่มผู้ป่วยอาการรุนแรง ที่มีผู้ลงทะเบียนร่วมโครงการทดลองกว่า 5,600 คนนั้น พบว่าส่วนใหญ่มีอาการดีขึ้น หลังได้รับยาเรมเดซิเวียร์ต่อเนื่อง 10 วัน ส่วนกลุ่มผู้ป่วยอาการปานกลางที่ลงทะเบียนร่วมทดลองราว 1,000 คน พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับยาต่อเนื่อง 5 วัน 65% มีอาการที่ดีขึ้นกว่าผู้ป่วยที่รับการรักษาตามปกติ

 

 

วารสารการแพทย์ The New England เผยแพร่ผลทดลองทางคลินิกขั้นต้นระยะที่ 1 จากสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติของสหรัฐฯ ที่ทำการทดลองให้ยาเรมเดซิเวียร์และยาหลอก (Placebo) แก่ผู้ป่วยมากกว่า 1,000 คน ใน 10 ประเทศ รวมถึงสหรัฐฯ พบว่าระยะเวลาการรักษาอาการของผู้ป่วยโควิด-19 นั้นลดลงจาก 15 วัน เหลือเพียง 11 วัน เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอก ขณะที่อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่ได้รับยาเรมเดซิเวียร์อยู่ที่ประมาณ 7.1% ซึ่งน้อยกว่าผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอก ที่มีอัตราเสียชีวิตราว 11.9% แต่ยังไม่พบหลักฐานว่าสามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้

 

 

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยเตือนว่าอัตราการเสียชีวิตในกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ที่ใช้ยาเรมเดซิเวียร์นั้นยังคงสูง และชี้ว่าการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยยาต้านไวรัสอย่างเรมเดซิเวียร์เพียงอย่างเดียวอาจยังไม่เพียงพอ

 

 

 

ยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) เหมาะสำหรับใคร


1.ใช้สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง


2.ใช้สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ได้ เช่น หญิงตั้งครรภ์

 

 


ผลข้างเคียงเบื้องต้นจากการใช้ยาเรมเดซิเวียร์


1.ตับอักเสบ 


2.ความดันเลือดต่ำ 


3.คลื่นไส้อาเจียน 


4.เหงื่อออก

 

 

 

WHO ยังไม่รับรอง ยาเรมเดซิเวียร์


องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังไม่ได้รับรองไม่ให้แพทย์ใช้ยาเรมเดซิเวียร์ (remdesivir เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่ายาดังกล่าวสามารถช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยโควิด-19 ได้ แม้จะมีผู้เชี่ยวชาญจากหลายประเทศ หรือคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) ที่อนุมัติให้มีการใช้ยาเรมเดซิเวียร์รักษาผู้ป่วยโควิด-19 แล้ว และได้ผลดี

 

 

 

สำรวจราคายาเรมเดซิเวียร์


บริษัทผู้ผลิตยาเรมเดซิเวียร์ ได้กำหนดราคาขายยาเรมเดซิเวียร์ (remdesivir) ในราคาขวดละ 390 ดอลลาร์สหรัฐ (per vial) หรือ ราว 12,000 บาท โดยในหนึ่งคอสของรักษาป่วยโควิดต้องใช้ยารักษาต่อเนื่องเป็นเวลา 5 วัน หรือเท่ากับยาเรมเดซิเวียร์ 1 ชุด (6ขวด) ตกราคาชุดละละ 2,340 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 72,500 บาท) ซึ่งราคานี้เป็นราคาสำหรับที่บริษัทจะจัดจำหน่ายให้รัฐบาลในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น

 

 

ภาพจาก AFP โดย ULRICH PERREY / POOL / AFP

 


สต๊อกยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) ในไทย


ปัจจุบันมีบริษัทที่ขึ้นทะเบียนนำเข้ายาตัวนี้ในประเทศไทยมากขึ้นเป็น 4 ทะเบียน มีการสำรองยาเรมเดซิเวียร์ไว้มากพอระดับหนึ่งที่สามารถกระจายให้กับทุกรพ.ทั้งภาครัฐและเอกชนได้ ซึ่งรัฐต้องสำรองไว้สำหรับกรณีที่เกิดภาวะฉุกเฉิน เพราะถ้าไม่มีการจัดการจากส่วนกลาง จะถูกไปสำรองในบางจุดมากเกินไป ทำให้บางที่ไม่มี ส่วนบางรพ.ที่อยากจะใช้นอกจากข้อบ่งใช้ที่กรมการแพทย์กำหนดแล้ว ก็อาจจะสามารถซื้อจากบริษัทไปใช้ได้

 

 

ขณะนี้ภาครัฐวางแผนจะซื้อเข้ามาประมาณ 1 แสนไวอัลสำหรับใช้ทั้งรพ.ภาครัฐและเอกชน เพราะเอกชนบางแห่งอาจจะหาซื้อไม่ได้ โดยเดิมมีอยู่ 1 หมื่นกว่าไวอัลก็มีกระจายไป ส่วนสัปดาห์นี้ก็เข้ามาอีก 1 หมื่นไวอัล ส่วนสัปดาห์หน้าองค์การเภสัชกรรม(อภ.)จะมีการสั่งซื้อเข้ามาสำรองอีก 1 แสนกว่าไวอัลโดยจะมีการทยอยเข้ามาอีกครั้ง

 

 

 


ข้อมูลจาก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล , hfocus , thestandard , posttoday

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง