เปิดวิธีใช้ "ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) " กินอย่างไรไม่เสี่ยงดื้อยา
เมื่อต้องรักษาตัวที่บ้าน ด้วยวิธี Home Isolation ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงมีมาตรการจ่ายยาบางชนิดเพื่อให้ผู้ป่วยโควิด-19 ที่อยู่ในกลุ่มอาการสีเขียว ได้รักษาตามอาการแต่ล่าสุดทางเพจ หมอแล็บแพนด้า โพสต์เตือนเรื่องการจ่ายยาต้านไวรัส ฟาวิพิราเวียร์ ว่า มีบางคลินิกจ่ายไม่ตรงคำแนะนำการใช้ยาซึ่งผู้ใช้ยาต้องระมัดระวัง
เพจ หมอแล็บแพนด้า โพสต์เตือนการจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ โดยระบุว่า
บนฉลากยาบางคลินิก ได้มีการแก้ฉลากยาด้วยปากกาให้คนไข้กินยาฟาวิพิราเวียร์ไม่ตรงกับคำแนะนำการใช้ยาครับ
ซึ่งผู้ติดเชื้อโควิดต้องได้กินยา 9 เม็ดทุก 12 ชั่วโมงในวันแรก
ส่วนวันถัดๆไปต้องกิน 4 เม็ด ทุก 12 ชั่วโมง จนครบ 5 วัน ซึ่งปกติแล้วจะจ่ายครั้งละ 50 เม็ด
แต่เคสนี้ได้มีการแก้ฉลากเป็นกิน 12 เม็ด ทุกวัน ซึ่งทำให้คนไข้ได้ยาไม่ครบคอร์สและโอเวอร์โดส และในตอนนี้คนไข้กินยาหมดแล้ว (2 วัน) และอาการไม่ดีขึ้น ต้องตามแบบนี้ไปอีกหลายร้อยเคส
คนไข้เหล่านั้นจะได้ผลกระทบ คือ
1) คนไข้ได้ยาไม่ครบคอร์ส
2) คนไข้ได้ยาโอเวอร์โดส
3) เสี่ยงต่อเชื้อดื้อยาทั้งต่อคนไข้เองและต่อส่วนรวม
เภสัชกรเขาไม่ปลื้มและฝากเตือนมาค้าบ
วันนี้ TrueID จึงได้สรุปวิธีการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์มาฝากทุกคน เพื่อป้องกันการจ่ายยาไม่ตรงตามการรักษา และให้ผู้ป่วยโควิด-19 ได้รักษาอย่างถูกวิธี
ยาฟาวิพิราเวียร์มีฤทธิ์ต้านไวรัสในกลุ่มอาร์เอนเอไวรัสได้หลากหลายชนิด เช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่ (influenza virus), ไวรัสโรคปากและเท้าเปื่อย (foot-and-mouth disease virus), ไวรัสไข้เหลือง (yellow fever virus) นอกจากนี้ยังมีการศึกษาอย่างต่อเนื่องกับไวรัสที่ก่อโรคในคนอีกหลายชนิด
จากข้อมูลเบื้องต้นที่พบว่ายาฟาวิพิราเวียร์มีประสิทธิภาพดีต่ออาร์เอ็นเอไวรัสหลายชนิด อีกทั้งได้ทดลองใช้รักษาโรคปอดอักเสบจากไวรัสโควิด-19 ที่เมืองอู่ฮั่นประเทศจีนและที่ประเทศญี่ปุ่น จึงเป็นยาที่ได้รับความสนใจ
แพทย์ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์กับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่รับไว้ในสถานพยาบาล โดยกรมควบคุมโรคระบุให้ใช้กับผู้ที่เริ่มมีอาการของโรค ไม่แนะนำให้ใช้กับผู้ที่ยังไม่มีอาการ หรือใช้เพื่อป้องกันโรค
วิธีการรับประทานยาฟาวิพิราเวียร์
- ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 9 เม็ดทุก 12 ชั่วโมงในวันแรก และลดเหลือครั้งละ 4 เม็ด ทุก 12 ชั่วโมงในวันที่เหลือ
- ผู้ที่น้ำหนักมากกว่า 90 กิโลกรัม ขนาดยาจะสูงขึ้น โดยในวันแรกจะรับประทานครั้งละ 12 เม็ดทุก 12 ชั่วโมง และลดเหลือครั้งละ 5 เม็ด ทุก 12 ชั่วโมงในวันที่เหลือ
- ผู้ป่วยเด็กจะต้องมีการคำนวณขนาดยาตามน้ำหนักตัว
ใครที่ต้องรับยาฟาวิพิราเวียร์
1.ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง
2.ผู้ที่รับการรักษาแบบ Home isolation หรือ Community isolation
3.ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง ได้แก่ อายุมากกว่า 60 ปี โรคปอดอุดกั้นเรื้อรรัง รวมโรคปอดเรื้อรังอื่นๆ โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมโรคหัวใจแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ ภาวะอ้วน ตับแข็ง ฯลฯ
4.ผู้ป่วยยืนยันที่มีปอดบวม หรือมีภาวะลดลงของออกซิเจน
ใครไม่ควรรับยาฟาวิพิราเวียร์
ผู้ติดเชื้อโควิดไม่มีอาการ หรือสบายดี ให้ดูแลรักษาตามดุลยพินิจของแพทย์ ไม่ให้ยาต้านไวรัส เนื่องจากส่วนมากหายได้เอง และอาจได้รับผลข้างเคียงจากยา พิจารณาให้ยาฟ้าทะลายโจรในกลุ่มที่ไม่มีอาการขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์
ส่วนผู้ป่วยมีโรคประจำตัว แต่ไม่มีอาการ จะอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ หากพบว่าไม่ค่อยแข็งแรงก็จะให้ยาฟาวิพิราเวียร์ทันที
อาการข้างเคียงที่อาจพบได้
1.คลื่นไส้
2.อาเจียน
3.ท้องเสีย
4.ตับอักเสบ
5.อาจทำให้หัวใจเต้นช้า
การใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ กินผิดเสี่ยงดื้อยา
การกินยาฟาวิพิราเวียร์มีผลข้างเคียง ทานไปอาจส่งผลต่อปัญหาตับอับเสบได้ และหากนำมาใช้เกินจำเป็นจะส่งเสริมการดื้อยาของเชื้อไวรัส และทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลง ดังนั้นทางกระทรวงสาธารณสุข จึงให้ยาฟาวิพิราเวียร์แค่เฉพาะผู้ป่วยโควิดบางกลุ่ม
ล่าสุดองค์การเภสัชกรรมได้ดำเนินการ วิจัย พัฒนา และผลิตยาฟาวิพิราเวียร์เอง โดยใช้ชื่อว่า ยาฟาเวียร์ (200มิลลิกรัมต่อเม็ด) ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)เรียบร้อยแล้ว โดยยาฟาเวียร์เป็นผลิตภัณฑ์ยาสามัญรายแรกของประเทศไทยมีคุณภาพมาตรฐานสากล จะเริ่มผลิตและกระจายให้ผู้ป่วยได้ใช้ในต้นเดือนสิงหาคมนี้ โดยในระยะแรกผลิตได้ไม่น้อยกว่าเดือนละ 2 ล้านเม็ด ที่โรงงานขององค์การฯที่ถนนพระราม 6 และจะขยายกำลังการผลิตไปยังโรงงานผลิตยาที่ คลอง10 อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตให้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง การผลิตยาดังกล่าวขององค์การฯครั้งนี้ ทำให้ราคายาถูกลงกว่าการนำเข้ายาจากต่างประเทศ ส่งผลให้รัฐประหยัดค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศ
ข้อมูลจาก เพจ หมอแล็บแพนด้า , คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล , กระทรวงสาธารณสุข , องค์การเภสัชกรรม
--------------------
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง