ความหวังรักษาโรคอ้วน ? กำจัดโปรตีน Mitch ออกจากเซลล์ ทดลองในหนูมีแนวโน้มดี

17 พฤษภาคม 2568 ( 01:34 )
11
การลดความอ้วนอาจเป็นสิ่งที่ท้าทายหรือทำได้ยากสำหรับใครหลายคน โดยเฉพาะเมื่อต้องรักษาวินัยในการควบคุมอาหารหรือการออกกำลังกาย แต่นักวิจัยอาจกำลังเข้าใกล้การรักษาโรคอ้วนมากขึ้น โดยการปรับปรุงโครงสร้างเซลล์ในร่างกายของเรา เช่น การลบโปรตีนที่เป็นกุญแจสำคัญของโรคอ้วนออกไป
โปรตีน Mitch อาจเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาโรคอ้วน ?
ก่อนหน้านี้ในปี 2016 นักวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์ไวซ์มันน์ ประเทศอิสราเอล นำโดยอาทัน กรอสส์ (Atan Gross) หัวหน้าห้องปฏิบัติการ Gross Lab ได้ทำการทดลองเกี่ยวกับยีนของหนู และได้ค้นพบยีนตัวหนึ่งเข้าโดยบังเอิญ ยีนนั้นชื่อว่า มิตช์ (Mitch) หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ MTCH2 เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่ตามบริเวณขอบของไมโตคอนเดรีย (mitochondria อวัยวะขนาดเล็กของเซลล์ ทำหน้าที่สร้างพลังงาน) และโปรตีน Mitch นี้ อาจเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาโรคอ้วน เนื่องจากการลบโปรตีน Mitch ออกจากร่างกาย ทำให้ปริมาณไขมันในเยื่อหุ้มเซลล์ลดลงอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีการเผาผลาญไขมันเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานเพิ่มมากขึ้นด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น นักวิจัยพบว่า หนูที่โปรตีน MTCH2 ถูกปิดการทำงาน (Silenced) หรือถูกลบออก สามารถพัฒนาความสามารถในการเล่นกีฬาได้เพิ่มมากขึ้น โดยจะมีเส้นใยกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น ความแข็งแรงและการทำงานของหัวใจดีขึ้น รวมถึงแม้ว่าจะมีการให้อาหารที่มีไขมันสูง และไม่ได้ให้หนูออกกำลังกาย แต่พวกมันก็ยังคงผอม
โปรตีน Mitch อาจส่งผลต่อร่างกายของมนุษย์ด้วย
ต่อมาในปี 2025 Gross และทีมได้ศึกษาเกี่ยวกับโปรตีน Mitch เพิ่มเติม ทดลองกับเซลล์เพาะเลี้ยงในห้องแล็บ โดยใช้เซลล์ 2 ชนิด คือ 1. HeLa cells เป็นเซลล์มะเร็งปากมดลูกของมนุษย์ และ 2. NIH3T3L1 preadipocytes ซึ่งเป็นเซลล์ที่ได้จากหนู การวิจัยแสดงให้เห็นว่าผลลัพธ์ที่โปรตีน Mitch ส่งผลต่อร่างกายของหนู อาจสามารถนำไปใช้ได้กับเซลล์ของมนุษย์ด้วยเช่นกัน
ซาบิตา ชูราเซีย (Sabita Chourasia) นักศึกษาปริญญาเอกของห้องปฏิบัติการ Gross Lab และเป็นผู้นำการวิจัยล่าสุดอธิบายว่า “หลังจากลบ Mitch ออกไปแล้ว เราก็ตรวจสอบผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสารมากกว่า 100 ชนิดที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการเผาผลาญในเซลล์ของมนุษย์ทุก ๆ 2 - 3 ชั่วโมง พบว่าการหายใจในระดับเซลล์เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นกระบวนการที่เซลล์ผลิตพลังงานจากสารอาหาร เช่น คาร์โบไฮเดรตและไขมันโดยใช้ออกซิเจน”
อย่างไรก็ตาม การวิจัยพบว่า Mitch ส่งผลกระทบหลายชั้น คือไม่เพียงแต่มีบทบาทในการควบคุมการเผาผลาญไขมัน แต่ยังเป็นตัวควบคุมหลักของการหลอมรวมไมโตคอนเดรียด้วย โดยทีมวิจัยค้นพบว่าหากไม่มี Mitch เครือข่ายไมโตคอนเดรียที่หลอมรวมเข้าด้วยกันภายในเซลล์ของเราก็จะพังทลาย ซึ่งไมโตคอนเดรียเปรียบเสมือนโรงงานผลิตพลังงานภายในเซลล์ ดังนั้นเมื่อมันพังทลายก็จะทำให้เซลล์ไม่สามารถผลิตพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือพูดอีกอย่างก็คือ เซลล์จะต้องได้รับเชื้อเพลิงอย่างไขมันหรือน้ำตาลมากขึ้นอย่างกะทันหันเพื่อให้ได้พลังงานเท่าเดิม
ไม่เพียงเท่านั้น Mitch ยังส่งผลต่อเซลล์ต้นกำเนิดด้วย (Progenitor Cells) ทั้งนี้ Progenitor Cell เปรียบเสมือนเซลล์อายุน้อยและมีความยืดหยุ่น สามารถพัฒนาไปเป็นเซลล์อื่น ๆ ได้ เช่น เติบโตเป็นเซลล์ไขมัน หรือ เซลล์กล้ามเนื้อ ฯลฯ แต่ทีมวิจัยพบว่าหากลบ Mitch ออกไป เซลล์ต้นกำเนิดจะไม่สามารถเติบโตไปเป็นเซลล์ไขมันได้
Mitch เป็นความหวังในการรักษาโรคอ้วนจริงหรือ ?
แม้ Mitch จะเกี่ยวข้องกับกระบวนการเผาผลาญไขมันในร่างกาย แต่มันก็ส่งผลต่อด้านอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ดังนั้นแล้วการบำบัดด้วยการลบยีน Mitch ออกจากร่างกาย จึงอาจต้องใช้ในสถานการณ์ที่เฉพาะเจาะจงมาก ๆ เท่านั้น เช่น อาจจะไม่เหมาะกับคนที่ต้องการลดน้ำหนักเพื่อความสวยงาม แต่อาจอาจใช้เพื่อการรักษาโรคอ้วนร้ายแรงเท่านั้น
นอกจากนี้แล้ว การลบ Mitch ออกจากร่างกายยังอาจเกิดผลข้างเคียงที่ร้ายแรงอีกด้วย โดยในปี 2017 ทีมวิจัยของ Gross ได้ค้นพบว่าการลบโปรตีน Mitch นั้นทำให้สูญเสียฟังก์ชันทางปัญญาที่สำคัญ เช่น ความจำเชิงพื้นที่ ความสามารถในการเรียนรู้ และโรคอัลไซเมอร์ขั้นรุนแรง
แต่อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้ถือเป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่ทำให้มนุษย์เราเข้าใจการเกิดโรคอ้วนได้ดียิ่งขึ้น และอาจเป็นแนวทางใหม่ในการรักษาโรคอ้วนรุนแรงด้วย
งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสาร The EMBO Journal ฉบับวันที่ 3 มกราคม 2025