เปิดภาพใจฟู ! ฝูงพะยูน 20 ตัว กลางทะเลตรัง
เพจเฟซบุ๊กศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จ.ตรัง เปิดเผยรายงานการสำรวจพื้นที่ ช่วงระหว่างวันที่ 5-10 กรกฎาคม 2567
เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จังหวัดตรัง ร่วมกับ อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม - Hat Chao Mai National Park ได้สำรวจติดตามในโครงการสำรวจและศึกษาพฤติกรรมพะยูนในพื้นที่เเหล่งหญ้าทะเลหาดหยงหลำ-เกาะมุกด์ เเละเเนวเชื่อมต่อของพะยูน บริเวณอุทยานเเห่งชาติหาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง
เบื้องต้นพบพะยูนจากการสำรวจ 6 วัน จำนวน 20 ตัว โดยมีคู่แม่-ลูก 1 คู่ , พะยูนช่วงวัยรุ่น และพะยูนโตเต็มวัย ในการสำรวจสังเกตเห็นพฤติกรรมการนอน การกิน การเล่นน้ำพักผ่อน การรวมฝูง การหากินเป็นฝูง การเลี้ยงลูก เเละการพลิกตัวไปมาระหว่างพะยูน 2 ตัว ซึ่งคาดว่าเป็นพฤติกรรมการผสมพันธ์ุ
นอกจากนี้ได้ทำการสำรวจหญ้าทะเลเพิ่มเติมบริเวณเเหล่งหญ้าทะเลหาดหยงหลำ-เกาะมุกด์เเละเเนวเชื่อมต่อ เบี้องต้นพบหญ้าทะเลจำนวน 6 ชนิด ซึ่งมีชนิดเด่น 2 ชนิด ได้แก่ หญ้าใบมะกรูด (Halophila ovalis) และหญ้าชะเงาเต่า (Thalassia hemprichii) โดยจะนำไปวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกต่อไป
พะยูนเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่ง ที่อาศัยอยู่ในทะเล มีการกระจายตัวในพื้นที่ที่มีหญ้าทะเล โดยเฉพาะใน จังหวัดตรัง ซึ่งเป็น 1 ในตัวชี้วัดถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ จนได้เป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัดตรังอีกด้วย
ข้อมูลและภาพ : ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จ.ตรัง