รีเซต

โควิดสอย‘เศรษฐกิจเกษตร’ร่วง ราคาแข่งดิ่งเหว รอแสนล้านซับน้ำตา

โควิดสอย‘เศรษฐกิจเกษตร’ร่วง ราคาแข่งดิ่งเหว รอแสนล้านซับน้ำตา
มติชน
23 สิงหาคม 2564 ( 11:33 )
21
โควิดสอย‘เศรษฐกิจเกษตร’ร่วง ราคาแข่งดิ่งเหว รอแสนล้านซับน้ำตา

ขณะนี้เริ่มเข้าฤดูกาลเก็บเกี่ยวรอบใหม่ ทั้งพืชเศรษฐกิจหลักของไทย คือ ข้าวเปลือก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา รวมถึงผลไม้หน้าร้อนอย่างบ้านเรา ตั้งแต่ ทุเรียน มังคุด ลำไย เงาะ ลองกอง เป็นต้น ก่อนหน้านี้ด้วยสภาพอากาศแปรปรวนถึงแห้งแล้งในหลายพื้นที่ ก็ประเมินว่าผลผลิตน่าจะใกล้เคียงปีก่อน จึงคาดหวังราคาพืชต่างๆ น่าจะทรงตัวหรือบวกลบไม่มากกว่าฤดูกาลก่อนมากนัก เฉลี่ยก็ 5-10% ตามกลไกตลาด

 

 

แต่สถานการณ์ความเป็นจริง พลิกล็อก ผลผลิตภาคเกษตรเกือบทุกชนิด เจอภาวะราคาตกต่ำเหมือนกัน หายไปเฉลี่ย 40-50% จนถูกยกมาเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองอีกครั้ง ที่ตอกย้ำกันหลายเรื่องช่วงการประชุมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปีงบ 2565

 

 

⦁ราคาพืชแข่งกันดิ่งเหว
สำรวจชาวไร่ชาวสวนสะท้อนไปทิศทางเดียวกัน ว่าแย่กว่าที่คาดหวังไว้ อย่างข้าวเปลือกเจ้า ชาวนาเผยขายจริงแค่ 7 พันกว่าบาท/ตัน เทียบปีก่อนช่วงนี้เกือบ 9 พันบาท ชาวสวนผลไม้ร้องจ๊ากกันส่วนใหญ่ ชี้ราคาขายตกต่ำในรอบหลายปี จนชาวสวนลำไยจำนวนไม่น้อยต้องฟาดผลลำไยทิ้งเพราะไม่คุมค่าจ้างเก็บ เพราะราคาขายร่วงเหลือ 3% ดิ่งหนักในรอบ 30 ปี มังคุดก็ต้องออกมาเทกันก็มาก เป็นต้น ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาที่คล้ายกันคือพ่อค้ารับซื้อผลผลิต (ล้ง) ไม่เข้ารับซื้อ อ้างเรื่องวิตกโควิดระบาดและส่งออกติดขัด

ขณะที่ผลสำรวจของทางการ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประเมินถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในปัจจุบัน ชี้ชัดว่าปริมาณผลผลิตฤดูกาลใหม่ปี 2564 แนวโน้มขยายตัว ผลจากปริมาณน้ำฝนมากขึ้นช่วงต้นปี และคาดว่าจะมีปริมาณฝนตกระดับปกติครึ่งหลังของปีนี้ สามารถเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติได้มากขึ้น จนเพียงพอต่อการเพาะปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ทำให้ผลผลิตไตรมาส 2/2564 ขยายตัว 1.2% ดีกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนที่ติดลบ 3.1% ในแง่ของราคาก็มั่นใจว่านโยบายและมาตรการของภาครัฐในการบริหารจัดการผลผลิตและการตลาด จะช่วยพยุงราคา มาตรการที่นำมาใช้แล้ว ก็คล้ายกับทุกครั้งที่ผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำ คือ รณรงค์ให้ค้าปลีกหรือองค์กรเข้ารับซื้อ แล้วนำไปจำหน่ายหรือแจกจ่าย รณรงค์การบริโภค และประสานโรงงานแปรรูปเพื่อดันส่งออก พร้อมโชว์ผลงานว่าสามารถดึงราคาลำไยให้อยู่ระดับ 12-24 บาทต่อกิโลกรัม ต่ำกว่าปีก่อนเล็กน้อยที่กิโลกรัมละ 14-33 บาท แต่หากเทียบปี 2562 ถือว่าต่ำมากซึ่งปีนั้นขายได้ถึง 50 บาท

 

 

ดังกล่าวนั้น จึงประเมินเศรษฐกิจการเกษตรทั้งปี 2564 ขยายตัว 1.7-2.7% สูงกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวมที่อาจต่ำกว่า 1% แต่ก็ดูเหมือนจะเป็นอัตราต่ำกว่าปีก่อน พร้อมกันนี้ยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงกระทบต่อเศรษฐกิจด้านเกษตรได้อีก คือ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ความแปรปรวนของสภาพอากาศ ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และความผันผวนของค่าเงินบาท จะส่งผลกระทบต่อการกระจายสินค้า ต้นทุนการผลิต และการส่งออกหลุดเป้าหมาย

 

 

 

⦁ไวรัสฉุดความเชื่อมั่น
อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ทิศทางราคาสินค้าภาคเกษตร โดยเฉพาะผลไม้มีแนวโน้มลดลง จากผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ เริ่มไม่มั่นใจสถานการณ์โควิด-19 ระบาดในไทย ที่เห็นผลกระทบแล้ว อาทิ ลำไย ทุเรียน อย่างสัปดาห์ที่ผ่านมา มีกระแสพบทุเรียนไทยมีเชื้อปนเปื้อนในประเทศจีน ถึงขั้นสั่งชะลอและให้ตรวจสอบให้ชัดเจนว่าติดจากไทยต้นทาง หรือติดจากปลายทางที่จีน หรือติดในขบวนการขนย้าย ซึ่งประเด็นนี้อาจมองว่าเป็นกลยุทธ์ของประเทศคู่แข่ง ต้องการลดความน่าเชื่อถือของสินค้าไทยก็ได้ และยังต้องกังวลต่อหากยอดตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันของไทยสูงต่อเนื่อง อาจเสี่ยงใช้เป็นข้อติงกระทบต่อราคาลงได้อีก จึงขึ้นอยู่ว่าไทยสามารถยืนยันได้ว่าผลไม้ไทยที่ส่งออกปลอดเชื้อโควิดปนเปื้อน ที่มีมาตรการเป็นที่เชื่อถือด้วย ถือเป็นวิธีป้องกันระยะยาว คือ ต้องทำให้ผู้นำเข้ายอมรับและมั่นใจสินค้าจากไทย การันตีทุกขั้นตอนปลอดภัยและรับคืนสินค้าหากเจอปัญหา

 

 

เขาระบุอีกว่า ถึงเวลาแล้ว ต้องปรับระบบตลาดภายในประเทศ และลดพึ่งพิงตลาดส่งออกเดิม แสวงหาตลาดใหม่ ลดความเสี่ยงในระยะยาวจากเกิดปัญหาซ้ำๆ จากผลผลิตล้นราคาย่อมตกต่ำ เดิมนั้นสินค้าเกษตรอย่างผลไม้ไทยพึ่งพาตลาดจีนเป็นหลัก บางชนิดถึง 80-90% ของปริมาณส่งออกทั้งหมด คงต้องเร่งเจาะตลาดอาเซียน อินเดีย หรือไปไกลถึงตะวันออกกลาง ส่วนตลาดภายในประเทศ รัฐต้องบริหารจัดการดีมานด์และซัพพลายจริงให้สมดุล ทำอย่างไรลดปัญหาผลผลิตจากสวนจากไร่ถูก แต่ปลายทางถึงผู้บริโภคยังแพง นั้นคือรัฐต้องสนับสนุนอย่างไรในการลดต้นทุน ค่าขนส่ง และบรรจุภัณฑ์ อีกเรื่องที่พูดกันมานาน แต่ไม่คืบหน้า คือ ทำอย่างไรให้เกิดความนิยมทำคอนแทรคฟาร์มมิ่ง(ทำงานซื้อขายล่วงหน้า) จับคู่หรือจับกลุ่มเกษตรกรกับโรงงานแปรรูปกันโดยตรง พร้อมใช้ระบบแพลตฟอร์มการซื้อขายผลไม้ถาวร เพื่อตรวจสอบย้อนหลังทุกขึ้นตอนเมื่อมีปัญหาจะได้แก้ไขทันและสร้างเสถียรภาพราคา

 

 

 

⦁ยันสินค้าไทยปลอดโควิด
ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกชี้แจงหลังกระแสสินค้าเจอโควิดปนเปื้อนว่า ที่มีการตรวจพบเชื้อโควิด-19 บนบรรจุภัณฑ์ทุเรียนไทยในมณฑลเจียงซี ซึ่งเป็นการสุ่มตรวจเชื้อตามปกติในพื้นที่ และมีผลให้สำนักงานป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 แขวงซงโจว เขตไป๋หยุน นครกว่างโจว ออกประกาศเกี่ยวกับการระงับทุเรียนไทยที่มีแหล่งผลิตในบางพื้นที่ของไทย ไม่ให้เข้ามาจำหน่ายในพื้นที่ซึ่งมีตลาดเจียงหนานและตลาดอื่นๆ แต่เป็นปัญหาเพียงระยะสั้น ตอนนี้เริ่มคลี่คลายแล้วหลังสำนักงานเกษตรและทูตพาณิชย์ ในจีนเข้าชี้แจงยืนยันไม่ได้เกิดจากไทย จนมีการยกเลิกประกาศสามารถปลดล็อกการระงับการจำหน่ายในตลาดเจียงหนาน นครกว่างโจวแล้ว

 

 

ในระยะยาว การสร้างความมั่นใจให้กับคู่ค้าแล้ว กระทรวงเกษตรฯอยู่ระหว่างศึกษาการเชื่อมเส้นทางรถไฟเพื่อขนส่งสินค้าระหว่างไทยและจีน จากปัจจุบันขบวนรถไฟจากจีนมาถึงแค่เวียงจันทน์ใต้ ประเทศลาว ยังขาดช่วงอีกประมาณ 20 กิโลเมตร ถึงเชื่อมต่อรถไฟไทย ในทางปฏิบัติที่ทำกันตอนนี้คือใช้วิธีขนส่งสินค้าผ่านรถบรรทุกไปที่เวียงจันทน์ใต้ เพื่อขนส่งสินค้าไปยังจีน โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) อยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล เพื่อจะได้ลงนามเปิดใช้เส้นทางดังกล่าวอย่างเป็นทางการ

 

 

สอดคล้องกับความร่วมมือของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เตรียมลงนามข้อตกลงเป็นท่าเรือพี่น้องระหว่างท่าเรือแหลมฉบังกับท่าเรือเมืองเซี่ยเหมินแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อส่งเสริมร่วมมือกันทางธุรกิจ และพัฒนาโอกาสทางการค้าด้านโลจิสติกส์ แลกเปลี่ยนความรู้ส่งเสริมการตลาดระหว่างกัน เพื่อดึงดูดให้มีผู้ใช้บริการของท่าเรือเพิ่มขึ้น อันนำมาซึ่งปริมาณการใช้บริการยกขนสินค้า และโอกาสทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้น

 

 

แต่อย่างไรก็ตาม ในภาวะรายได้ฝืดเคือง สิ่งที่ชาวสวนชาวไร่อยากเห็นคือ ประกันความมั่นคงด้านรายได้ ซึ่งภาครัฐเองก็เตรียมดับร้อนด้วยการทยอยชงการประกันรายได้พืชเข้า ครม.อนุมัติ อิงราคาเท่า 2 ปีก่อน เมื่อพิจารณาช่องห่างฐานราคาตลาดกับราคาประกันรายได้ แต่ละพืชรัฐต้องเตรียมงบเพิ่มไม่น้อยกว่า 30-40% แค่ข้าวเปลือกจาก 4 หมื่นล้าน พุ่งเป็น 8 หมื่นล้าน หากรวม 5 พืช ต้องประกันรายได้และพืชผักต่างๆ อีก ไม่ต่ำกว่า 1.5 แสนล้าน ต้องมี อดหันไปดูงบรัฐเพื่อการเยียวยาและฟื้นฟูจากโควิดที่หมดลงเรื่อยๆ หากอีก 2 เดือนข้างหน้าพืชหลักรอบใหม่ราคาไม่ดีขึ้น เกิดการปะทุ อาจเป็นตัวเร่งรัฐกู้เงินเพิ่ม คงเลี่ยงไม่ได้แล้ว !!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง