รีเซต

ครั้งแรก ! แพทย์ผ่าตัดสมองตัวอ่อนในครรภ์รักษาอาการหลอดเลือดผิดปกติ

ครั้งแรก ! แพทย์ผ่าตัดสมองตัวอ่อนในครรภ์รักษาอาการหลอดเลือดผิดปกติ
TNN ช่อง16
8 พฤษภาคม 2566 ( 13:20 )
44

เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2023 ที่ผ่านมา วารสารสโตรก (Stroke) ซึ่งเป็นวารสารด้านการแพทย์ได้เผยแพร่รายงานการผ่าตัดสมองตัวอ่อนขณะอยู่ในครรภ์เป็นครั้งแรกของโลก อันเป็นการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการหลอดเลือดดาเกเลน (Vein of Galen malformation) ซึ่งเป็นวิธีการที่สามารถช่วยรักษาอาการได้ตั้งแต่แรกเริ่ม

การทดลองผ่าตัดสมองตัวอ่อนในครรภ์ของทีมแพทย์จาก 2 โรงพยาบาล 

โดยการผ่าตัดนี้เป็นความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลเด็กบอสตัน (Boston Children's Hospital) และโรงพยาบาลบริกแฮมและสตรี (Brigham and Women's Hospital) จากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งคนไข้ที่ได้รับการผ่าตัดในครั้งนี้ก็คือเคนยัตตา โคลแมน (Kenyatta Coleman) และทารกน้อยเดนเวอร์ โคลแมน (Denver Coleman)


เดนเวอร์ โคลแมนได้รับการวินิจฉัยหลังจากอัลตราซาวน์ว่ามีอาการหลอดเลือดดาเกเลนเมื่ออายุได้เพียง 30 สัปดาห์ ต่อมาในสัปดาห์ที่ 34 ทีมแพทย์ได้ทำการผ่าตัดสมองของเดนเวอร์ โคลแมนผ่านมดลูกของคุณแม่เคนยัตตา โคลแมน


หลังจากนั้นอีก 2 วัน เคนยัตตา โคลแมนมีอาการน้ำคร่ำแตกและคลอดเดนเวอร์ โคลแมนออกมา ซึ่งเธอได้รับการติดตามในหออภิบาลทารกแรกเกิดเป็นเวลา 6 สัปดาห์ และพบว่าทารกมีพัฒนาการที่ดีอย่างน่าทึ่ง, ไม่ต้องกินยา, รับประทานอาหารได้ตามปกติ, น้ำหนักเพิ่มขึ้นและสามารถกลับบ้านได้

อาการหลอดเลือดดาเกเลน (Vein of Galen malformation) คืออะไร ? 

สำหรับอาการหลอดเลือดดาเกเลนเป็นอาการบกพร่องที่อาจส่งผลให้สมองบวมหรือเส้นเลือดบนศีรษะปูดบวมจนสามารถเห็นได้ชัดและนำไปสู่อาการชัก, หยุดการเจริญเติบโตและหัวใจวายได้ โดยสมาคมโรคหัวใจอเมริกัน (American Heart Association) ได้รายงานว่าพบอาการดังกล่าวได้ในทารกจำนวน 1 ใน 60,000 ซึ่งทารกเหล่านี้มักจะต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อช่วยเหลือหลังคลอด


อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดครั้งนี้เป็นเพียงการทดลองด้านการแพทย์และทดลองไปได้เพียงกรณีเดียวจึงยังไม่สามารถสรุปอัตราการผ่าตัดสำเร็จและผลข้างเคียงจากการผ่าตัดได้ชัดเจน โดยหากวิธีการนี้มีอัตราการผ่าตัดสำเร็จที่สูงและผลข้างเคียงน้อยอาจถูกนำมาใช้เป็นวิธีรักษาตัวอ่อนในครรภ์ที่มีอาการหลอดเลือดดาเกเลนและสามารถช่วยชีวิตทารกแรกเกิดได้หลายคน


ข้อมูลจาก LIVESCIENCE

ภาพจาก American Heart Association และ Pixabay

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง