รู้จัก “วีซ่าสภาพภูมิอากาศ” ที่ออสเตรเลียเปิดให้ “ตูวาลู” ประเทศที่กำลังจะจมน้ำหายไป!

ในยุคที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่แค่ปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่กลายเป็นภัยคุกคามต่อความอยู่รอดของมนุษยชาติ วีซ่ารูปแบบใหม่ที่ออสเตรเลียเปิดตัวสำหรับพลเมืองของประเทศตูวาลู จึงถือเป็นก้าวสำคัญของโลกในการยอมรับผลกระทบที่จับต้องได้จากวิกฤตภูมิอากาศ เพราะตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีประชากรกว่า 1 ใน 3 ของตูวาลูลงทะเบียนเข้าร่วมการจับสลากเพื่อขอรับวีซ่า “Pacific Engagement Visa (PEV)” ซึ่งเปิดทางสู่การพำนักถาวรในออสเตรเลีย สะท้อนถึงความเร่งด่วนของสถานการณ์ที่ประเทศเกาะเล็กๆ อย่างตูวาลูกำลังเผชิญ
“วีซ่าสภาพภูมิอากาศ” (Climate Visa) เป็นคำที่เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ใช้เรียกวีซ่ารูปแบบใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อรองรับประชาชนจากประเทศหรือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง เช่น น้ำทะเลที่สูงขึ้น ภัยแล้ง น้ำท่วม และพายุสุดขั้ว แม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีกรอบกฎหมายระหว่างประเทศที่รับรอง "ผู้ลี้ภัยจากภูมิอากาศ" อย่างเป็นทางการ แต่นานาชาติกำลังเริ่มตระหนักถึงความจำเป็นในการสร้างช่องทางการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานอย่างปลอดภัยและมีศักดิ์ศรีให้กับประชาชนที่ต้องอพยพจากถิ่นฐานเดิมไม่ใช่เพราะสงครามหรือเพราะเหตุการณ์บ้านเมืองระส่ำระส่าย แต่เพราะ “บ้านของพวกเขากำลังจะจมหายไปใต้ทะเล”
อย่างกรณีของ “ออสเตรเลีย” และ “ตูวาลู” จึงนับเป็น “กรณีแรกของโลก” ที่รัฐบาลประเทศหนึ่งให้การยอมรับและจัดตั้งวีซ่ารูปแบบถาวรสำหรับประชาชนจากประเทศที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาวะภูมิอากาศ แม้ว่าวีซ่านี้จะไม่ใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า “วีซ่าสภาพภูมิอากาศ” แต่เนื้อหาในสนธิสัญญาระหว่างสองประเทศนั้นเน้นชัดถึงภัยคุกคามจากโลกร้อนในฐานะ “ปัญหาความมั่นคงของชาติ”
Pacific Engagement Visa (PEV) – Treaty stream (Tuvalu) เป็นผลจากสนธิสัญญาทวิภาคีที่ลงนามระหว่างออสเตรเลียและตูวาลูในปลายปี 2023 ภายใต้ชื่อ “Australia–Tuvalu Falepili Union” ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในสามด้านหลัก ได้แก่
- ความมั่นคง (Security)
- การเคลื่อนย้ายแรงงานและประชาชน (Mobility)
- การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Cooperation)
วีซ่านี้เปิดรับพลเมืองตูวาลูที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และไม่ได้ถือสัญชาตินิวซีแลนด์ หรือได้สัญชาติตูวาลูผ่านการลงทุน ผู้สมัครไม่จำเป็นต้องมีงานรองรับเหมือนวีซ่าแบบอื่น ๆ และสามารถอาศัย ทำงาน หรือศึกษาต่อในออสเตรเลียได้อย่างถูกกฎหมาย รวมถึงได้รับสิทธิประโยชน์ของผู้พำนักถาวร เช่น การเข้าถึงระบบ Medicare โรงเรียนรัฐ เงินอุดหนุนเด็ก และสิทธิประโยชน์ทางภาษีครอบครัว
ในปี 2025 นี้จะมีการออกวีซ่าราว 280 ฉบับต่อปีสำหรับชาวตูวาลู โดยเปิดให้ลงทะเบียนผ่านระบบจับสลากออนไลน์ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน ถึง 18 กรกฎาคม การสุ่มผู้ได้รับเลือกจะเริ่มในวันที่ 25 กรกฎาคม และจะประกาศผลภายในเดือนมกราคม 2026
แรงผลักดันสำคัญที่นำไปสู่การจัดตั้งวีซ่าครั้งประวัติศาสตร์นี้ คือเสียงเรียกร้องจากตูวาลูเอง โดยเฉพาะหลังจากที่รัฐมนตรีต่างประเทศของตูวาลูในขณะนั้น นายไซมอน โคเฟ (Simon Kofe) กล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุม COP26 เมื่อปี 2021 โดยยืนพูดอยู่ในทะเล ครึ่งตัวจมอยู่ในน้ำทะเลที่เพิ่มสูง ภาพนั้นกลายเป็นสัญลักษณ์อันทรงพลังของชะตากรรมที่ใกล้จะมาถึงของประเทศหมู่เกาะเล็ก ๆ ที่กำลังเผชิญวิกฤตโลกร้อน
.
ประเทศตูวาลูตั้งอยู่เพียง 5 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล และคาดการณ์ว่า 90% ของพื้นที่ประเทศอาจจมหายภายในปี 2100 นอกจากน้ำทะเลที่สูงขึ้น ประเทศยังประสบปัญหาน้ำจืดขาดแคลน การกัดเซาะชายฝั่ง การสูญเสียแนวปะการัง และพายุที่รุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้จะเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยที่สุดในโลก (เพียง 0.02% ของการปล่อยทั่วโลก) แต่ประเทศอย่างตูวาลูกลับต้องเผชิญผลกระทบจากโลกร้อนมากที่สุด ระดับน้ำทะเลในภูมิภาคแปซิฟิกเพิ่มขึ้นเร็วกว่าโลกเฉลี่ยถึง 2 เท่า ขณะที่อุณหภูมิผิวน้ำทะเลก็เพิ่มขึ้นเร็วกว่า 3 เท่าตั้งแต่ช่วงปี 1980
เมื่อประกาศสนธิสัญญา Falepili Union นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย แอนโทนี อัลบาเนซี กล่าวว่า “เราต้องการช่วยชาวตูวาลูรักษาอนาคตของพวกเขาไว้ ไม่เพียงแต่ในแง่ของความปลอดภัย แต่รวมถึงวัฒนธรรมและตัวตนของพวกเขาด้วย”
การยอมรับอย่างชัดเจนจากรัฐบาลออสเตรเลียว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือภัยคุกคามต่อความมั่นคง” ถือเป็นหนึ่งในก้าวสำคัญของโลกในการผสานเรื่องสิ่งแวดล้อม มนุษยธรรม และความมั่นคงเข้าด้วยกัน
นอกจากวีซ่าพิเศษสำหรับตูวาลู ออสเตรเลียยังได้เปิดตัว Pacific Engagement Visa สำหรับพลเมืองจาก 10 ประเทศในแถบแปซิฟิกและติมอร์-เลสเต โดยในปี 2024 ได้จัดสรรโควตาดังนี้
- ปาปัวนิวกินี 1,515 คน
- ฟิจิ, ตองกา, ติมอร์-เลสเต ประเทศละ 300 คน
- หมู่เกาะโซโลมอน, นาอูรู, วานูอาตู ประเทศละ 150 คน
- ไมโครนีเซีย 24 คน
- ปาเลา 11 คน
- ตูวาลู 100 คน (แยกจากโครงการ Treaty Stream)
ผู้ถือวีซ่าจะได้รับสิทธิพำนักถาวร พร้อมเข้าถึงระบบสุขภาพ การศึกษา และสวัสดิการสังคม
เสียงตอบรับจากชาวตูวาลูต่อวีซ่านี้บ่งบอกถึง “การแข่งขันกับเวลา” การตัดสินใจเพื่อรักษาชีวิต ครอบครัว และตัวตนทางวัฒนธรรมไว้ก่อนที่ผืนแผ่นดินบ้านเกิดจะหายไปจากแผนที่ ดังนั้น จะเห็นว่าภัยพิบัติทางสภาพภูมิอากาศกำลังกลายเป็นปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนการอพยพของประชากรในศตวรรษที่ 21 และหากโลกไม่เร่งมือ การหายไปของตูวาลูอาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของโศกนาฏกรรมในระดับโลกที่จะตามมา
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
