รีเซต

นักวิทย์เตือน ! อาจมีภูเขาไฟระเบิดครั้งใหญ่ที่ทำให้โลกระส่ำได้ภายในศตวรรษนี้

นักวิทย์เตือน ! อาจมีภูเขาไฟระเบิดครั้งใหญ่ที่ทำให้โลกระส่ำได้ภายในศตวรรษนี้
TNN ช่อง16
7 มกราคม 2568 ( 11:18 )
23

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น (CNN) รายงานว่า ในศตวรรษนี้ มีโอกาสร้อยละ 16.67 ที่จะเกิดการระเบิดของภูเขาไฟ (Volcanic Eruption) ขนาดใหญ่ ที่อาจสร้างผลกระทบถึงขั้นสภาพอากาศแปรปรวน ภาวะขาดแคลนอาหาร และสงครามระหว่างมหาอำนาจได้ภายในศตวรรษที่ 21 หรือช่วงปี 2025 - 2100 นี้


ภูเขาไฟระเบิดครั้งใหญ่กับผลกระทบต่อโลกในอดีต

ย้อนกลับไปในปี 1815 ภูเขาไฟแทมโบรา (Mount Tambora) ในอินโดนีเซียเกิดการระเบิดซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ภูเขาไฟที่รุนแรงที่สุดในโลกเท่าที่เคยบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกลดลงไม่น้อยกว่า 1 องศาเซลเซียส จากการปล่อยคาร์บอนและซัลเฟอร์ปกคลุมชั้นบรรยากาศจำนวนมหาศาล


ทางด้านของ ลอยด์ส (Lloyd’s) บริษัทประกันชั้นนำของโลกจากอังกฤษ ประเมินว่าการระเบิดในครั้งนั้นสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจเฉพาะในปีที่เกิดการระเบิดสูงถึง 3.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 120 ล้านล้านบาท (ค่าเงินปัจจุบัน)


เตือนภูเขาไฟระเบิดครั้งใหญ่อาจเกิดขึ้นอีกครั้ง

แต่ผลกระทบที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเกี่ยวข้องกันมากที่สุด คือการระเบิดของภูเขาไฟแทมโบรา ส่งผลให้ภูเขาไฟทั่วโลกเกิดการระเบิดเป็นลูกโซ่ แต่ผ่านมากว่า 200 ปี การระเบิดของภูเขาไฟแทมโบราก็ยังคงเป็นการระเบิดที่รุนแรงที่สุดในยุคใหม่ 


และคำถามที่ตามมาที่สำคัญที่สุดนั้นไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ แต่เกิดขึ้นเมื่อไหร่ เพราะมาร์คัส สตอฟ (Markus Stoffel) ศาสตราจารย์ด้านภูมิอากาศจากมหาวิทยาลัยเจนีวา (University of Geneva) ในสวิตเซอร์แลนด์ออกมาให้สัมภาษณ์กับ CNN ว่าในศตวรรษนี้นั้นมีโอกาสที่จะเกิดการระเบิดของภูเขาไฟที่รุนแรงระดับเดียวกันกับเหตุการณ์ในปี 1815 อีกครั้งนั้นอยู่ที่ประมาณ 1 ใน 6 หรือร้อยละ 16.67


โดยการวิจัยนั้นใช้กระบวนการจำลองทางธรณีวิทยาและธรณีฟิสิกส์ของโลกที่เกี่ยวข้อง เช่น การทดสอบแรงเค้น (Stress test) ของการแปรสัณฐานแผ่นธรณีภาค (Plate Tectonic) เพื่อดูว่าหากเกิดการระเบิดของภูเขาไฟจะส่งผลอย่างไรบ้าง 


แม้ว่าจะไม่สามารถบอกวัน เวลา สถานที่ได้อย่างชัดเจน แต่ก็ยังสามารถทำให้เห็นภาพสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นเพื่อเตรียมแผนรับมืออพยพผู้คนทั่วโลกกว่า 800 ล้านคน ที่อยู่ในเขตภูเขาไฟที่มีพลัง (Active volcano) และจับตาในพื้นที่อินโดนีเซียเป็นพิเศษ เพราะเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีกิจกรรมทางธรณีมากที่สุดในโลก (เช่น แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ภูเขาไฟระเบิด ฯลฯ)


ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากภูเขาไฟระเบิดครั้งใหญ่

นักวิจัยคาดว่า สภาวะภูมิอากาศแปรปรวน (Climate Change) ที่ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกสูงขึ้นนั้นจะทำให้ฝุ่น (Aerosol) หรือเถ้าภูเขาไฟ (Volcanic ash) แพร่กระจายปกคลุมชั้นบรรยากาศทั่วโลกได้เร็วขึ้น หากเกิดการระเบิดของภูเขาไฟ 


เมื่อชั้นบรรยากาศถูกบดบัง โลกอาจมีอุณหภูมิเฉลี่ยลดลง 1 - 1.5 องศา ที่มาพร้อมปัญหาสภาพอากาศแปรปรวนที่คาดเดาไม่ได้ เช่น มรสุมฤดูร้อนอาจไม่เกิดขึ้นหรือผิดปกติ เนื่องจากพื้นทวีปและมหาสมุทรมีอุณหภูมิไม่ต่างกันมากพอจนเกิดกระแสลม ซึ่งส่งผลต่อพื้นที่เกิดมรสุมอย่างทวีปเอเชียและแอฟริกา


Lloyd’s ยังคาดการณ์ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวอาจทำให้เกิดปัญหาภาวะขาดแคลนอาหาร เนื่องจากสภาพอากาศที่เย็นลง แสงแดดและการเกิดฝนที่ลดลง ส่งผลให้พืชผลทางการเกษตรไม่สามารถเติบโตและผลิตได้ตามปกติ ซึ่งจะกระทบอย่างมีนัยสำคัญในพื้นที่ที่ทำการเกษตรขนาดใหญ่ หรือมีประชากรมาก อย่างเช่น  สหรัฐอเมริกา จีน และรัสเซีย จนนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งในกรณีที่เลวร้ายที่สุด อาจนำไปสู่ความตึงเครียดทางการเมือง หรือแม้แต่สงครามได้


ด้านมาร์คัส สตอฟ (Markus Stoffel) กล่าวทิ้งท้ายกับ CNN ว่า “โลกยังไม่ได้มีแผนรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นเลย เราเพียงแค่เริ่มคิดได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเท่านั้น”


ข้อมูล CNN

ภาพ Pexels


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง