รีเซต

นาซาเลื่อนภารกิจเหยียบดวงจันทร์ ขยับโครงการอาร์เทมิส 2 - 3 ออกไปอีก 1 ปี

นาซาเลื่อนภารกิจเหยียบดวงจันทร์ ขยับโครงการอาร์เทมิส 2 - 3 ออกไปอีก 1 ปี
TNN ช่อง16
10 มกราคม 2567 ( 15:31 )
46

สำหรับผู้ที่ติดตามข่าวคราวด้านเทคโนโลยีอวกาศ อาจจะจำได้ว่าปลายปีนี้มีกำหนดการปล่อยตัวภารกิจอาร์เทมิส 2 (Artemis II) ซึ่งเป็นภารกิจส่งนักบินอวกาศไปเดินทางวนรอบดวงจันทร์ขององค์การนาซา แต่ล่าสุดนาซาออกมาประกาศแล้วว่า ภารกิจอาร์เทมิส 2 จะเลื่อนกำหนดการปล่อยตัวออกไปเป็นเดือนกันยายน 2025 ซึ่งก็หมายถึงเลื่อนออกไปอีก 1 ปีนั่นเอง 


ซึ่งความล่าช้าของภารกิจอาร์เทมิส 2 ก็ส่งผลไปยังภารกิจอาร์เทมิส 3 (Artemis III) ซึ่งเป็นภารกิจส่งมนุษย์ไปลงเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ เลื่อนออกไปอีก 1 ปีจากกำหนดการเดิม จากปี 2025 ไปเป็นเดือนกันยายน 2026 ซึ่งเหตุผลที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงกำหนดการ ก็คือเรื่องของความปลอดภัย และความท้าทายเรื่องข้อจำกัดของเทคโนโลยีนั่นเอง


“เราจะไม่บินจนกว่ามันจะพร้อม” บิล เนลสัน (Bill Nelson) ผู้บริหารของนาซากล่าวระหว่างการแถลงข่าวเมื่อบ่ายวันที่ 9 มกราคม “ความปลอดภัยเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด”


สำหรับความล่าช้าของภารกิจ เจ้าหน้าที่ก็ได้อ้างอิงถึงปัญหาทางเทคนิคหลายอย่าง คือ การวิเคราะห์การสึกหรอของแผงป้องกันความร้อนของแคปซูล และการซ่อมแซมหอปล่อยยานอวกาศด้วย แต่ประเด็นหลักคือการพบปัญหาในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในระบบช่วยชีวิตของแคปซูลโอไรออน (Orion)


ภารกิจอาร์เทมิส 2 จะไม่เข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์ แต่แคปซูลที่ชื่อโอไรออน (Orion) จะแกว่งอยู่รอบดวงจันทร์ก่อนจะกลับมาตกลงในมหาสมุทรแปซิฟิก ภารกิจนี้กินเวลาทั้งหมด 10 วัน นักบินจะประกอบด้วยนักบินอวกาศของนาซาคือ รีด ไวส์แมน (Reid Wiseman) วิคเตอร์ โกลเวอร์ (Victor Glover) คริสติน่า คอช (Christina Koch) และมีนักบินอวกาศชาวแคนาดา 1 คนชื่อ เจเรมี แฮนเซ่น (Jeremy Hansen)


ทั้งนี้แม้ภารกิจอาร์เทมิส 2 และอาร์เทมิส 3 จะเลื่อนกำหนดการออกไป แต่ภารกิจอาร์เทมิส 4 (Artemis IV) ซึ่งจะเป็นการส่งนักบินอวกาศไปยังลูนาร์ เกตเวย์ (Lunar Gateway สถานีอวกาศนอกโลก อยู่ในวงโคจรดวงจันทร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางการสื่อสาร ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ และโมดูลที่อยู่ระยะสั้นของนักบิน รวมถึงเป็นพื้นที่กักเก็บสำหรับรถโรเวอร์และหุ่นยนต์) และลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ จะยังคงกำหนดการเดิมคือปี 2028


ที่มาข้อมูล NASA, NYTimes

ที่มารูปภาพ NASA

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง