รีเซต

รวมแอปฯ ปรึกษาจิตแพทย์ สำหรับผู้ป่วยซึมเศร้าและผู้ต้องการคำปรึกษา

รวมแอปฯ ปรึกษาจิตแพทย์ สำหรับผู้ป่วยซึมเศร้าและผู้ต้องการคำปรึกษา
Ingonn
7 ตุลาคม 2565 ( 14:25 )
50.3K
รวมแอปฯ ปรึกษาจิตแพทย์ สำหรับผู้ป่วยซึมเศร้าและผู้ต้องการคำปรึกษา

เช็คสุขภาพจิต ในช่วงที่ชีวิตพบปัญหากันเถอะ หากกำลังเผชิญสถานการณ์ที่ยากลำบาก มีความเครียด และต้องการที่ปรึกษา TrueID ได้รวบรวมแอปพลิเคชัน ปรึกษาจิตแพทย์ สำหรับผู้ป่วยซึมเศร้าหรือผู้ที่ต้องการได้รับคำปรึกษา เพื่อให้ตัวเองได้ผ่านจุดวิกฤตที่ยากไปได้โดยไม่มีความเสี่ยง

 

เช็กตัวเองก่อนว่าเราเป็น “โรคซึมเศร้า” รึเปล่า


เบื้องต้นสามารถสังเกตได้จากอาการเศร้า เสียใจ และท้อแท้จนไม่อยากทำอะไร บางครั้งก็เป็นไปอย่างไม่ทราบสาเหตุ ถึงแม้มีเรื่องน่ายินดีก็กลับไม่รู้สึกมีความสุขเลย และนอกจากนี้ ผู้ที่เข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้ามักแสดงอาการเหล่านี้ออกมาพร้อมๆกันภายในระยะเวลา 2 อาทิตย์

 

1.รู้สึกหมดหวัง ไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อไปหรือจะทำไปเพื่ออะไร


2.ไม่มีความสุขกับสิ่งของหรือกิจกรรมที่ชอบ เช่น รู้สึกเบื่อหน่ายอาหารโปรดหรือการร่วมเพศ


3.น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นเร็วมากอันเนื่องมาจากการรับประทานอาการที่ไม่เหมือนเดิม


4.นอนไม่หลับมาเป็นระยะเวลานาน แต่ในผู้ป่วยบางรายก็นอนนานผิดปกติ


5.มีอาการเครียด หงุดหงิดง่ายขึ้น ไม่รู้สึกผ่อนคลาย


6.ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งที่ทำได้เลย บางครั้งก็แสดงอาการหลงๆลืมๆ และใช้เวลานานในการตัดสินใจ


7.มีการเคลื่อนไหวร่างกายที่ช้าลง รวมถึงการพูด เพราะรู้สึกว่าร่างกายอ่อนแรง


8.รู้สึกอยากฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตาย บางครั้งผู้ที่มีอาการนี้ก็ไม่รู้ตัวเอง

 

อาการเหล่านี้คืออาการของโรคซึมเศร้า หากปล่อยไว้นานจะทำให้กลายเป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรังซึ่งมีอาการรุนแรงกว่านี้มาก ทางที่ดีควรปรึกษาแพทย์ทันทีเพื่อรับการบำบัดสภาพร่างกายและจิตใจอย่างถูกต้องก่อนที่จะก่อให้เกิดความสูญเสีย

 

รวมแอปพลิเคชัน มีปัญหาปรึกษาหมอ

 

 

Ooca

 

 

 

 

1. Ooca อูก้า แอปพลิเคชันสำหรับปรึกษาจิตแพทย์ออนไลน์ ที่ช่วยให้สามารถพูดคุยปัญหาคาใจกับจิตแพทย์และนักจิตวิทยาได้ผ่าน video call โดยเข้าใช้งานได้อย่างเป็นส่วนตัวและปลอดภัย ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ นอกจากปรึกษาแพทย์แล้ว อูก้ายังสามารถทำแบบทดสอบประเมินความเครียดก่อนเริ่มรับคำปรึกษาได้อีกด้วย 

 

ผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าอยากปรึกษาเรื่องอะไร โดยมีอัตราค่าใช้บริการปรึกษานักจิตวิทยาอยู่ที่ 1,000 บาท ต่อ 30 นาที และปรึกษาจิตแพทย์ 1,500 บาท ต่อ 30 นาที 


อูก้าจะเน้นการพูดคุยปรึกษาปัญหาเบื้องต้นเท่านั้น หากนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์มีความเห็นว่าควรจะได้รับการรักษาอย่างจริงจังก็จะแนะนำให้ไปสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้กับผู้ใช้บริการ

 

 

Chiiwii

 

 

 

 


2. Chiiwii ชีวิ แอปพลิเคชันที่เป็นตัวช่วยในการให้คำปรึกษาสำหรับผู้ป่วย และผู้ดูแล ทั้งครอบครัว และชุมชน ให้สามารถเข้าถึงการปรึกษาแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชได้ ผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ด้วยความปลอดภัยและเป็นส่วนตัวสูงสุด ภายใต้ความคุ้มครองความเป็นส่วนตัวที่ได้มาตรฐาน

 

 

Mental Health Check Up

 

 

 

3. Mental Health Check Up แอปพลิเคชันที่ทางกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา สำหรับปรึกษาจิตแพทย์ปรึกษาจิตแพทย์ โดยสามารถประเมินอาการได้ 6 รายการ ได้แก่ 1.ความเครียด 2.ภาวะซึมเศร้า 3.ภาวะสมองเสื่อม 4.ดัชนีวัดความสุข 5.พลังสุขภาพจิต (RQ) 6.ความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) หลังจากทำแบบประเมินเสร็จแล้ว ระบบจะสรุประดับความเครียดหรือระดับความเสี่ยง หากอยู่ในระดับสูง ก็จะแนะนำให้ไปพบจิตแพทย์ หรือโทร.หาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ทันที

 

 

APPEER

 

 

 

4. APPEER แอปพลิเคชันจากความร่วมมือของสมาคมสายใยครอบครัว ร่วมกับโรงพยาบาลศรีธัญญา กรมสุขภาพจิต และมูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย สามารถปรึกษาสุขภาพจิตฟรี หรือขอคำปรึกษาและแลกเปลี่ยนประเด็นทางสุขภาพจิตกับผู้เชี่ยวชาญได้โดยตรง รวมถึงมีแบบประเมินตนเองเบื้องต้น ซึ่งระบบจะประเมินผลให้โดยอัตโนมัติโดยใช้เวลาไม่นาน พร้อมทั้งยังได้รวบรวมข่าวสาร กิจกรรมความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ของสมาคมสายใยครอบครัว บทความสุขภาพจิตออนไลน์ รวมทั้งสื่อสุขภาพจิตที่น่าสนใจ และยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างเสริมอาชีพ พัฒนารายได้ แก่ผู้ป่วยจิตเวชอีกด้วย

 

 

Mindfit

 

 

 

5. Mindfit มายด์ฟิต แอปพลิเคชันที่พัฒนาโดยศูนย์เชี่ยวชาญด้านการป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคซึมเศร้า โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งโรงพยาบาลเฉพาะทางที่ให้การรักษาผู้ป่วยจิตเวชทุกโรค ปัจจุบันมีให้บริการในระบบ Android เท่านั้น แอปพลิเคชันนี้ถูกออกแบบมาให้ใช้งานง่าย มีการประเมินที่เรียกว่า การประเมินพลังใจ 9 ข้อ เป็นการวัดความเศร้าของตัวเอง แอปพลิเคชัน 

 

 

Wysa

 

 

 


6. Wysa แอปพลิเคชันแบบ แชทบอท ที่คอยพูดคุยกับเรา โดยประมวลผลบทสนทนา และแสดงการโต้ตอบด้วยหลักการจัดการความเครียดและภาวะซึมเศร้า ที่จะช่วยให้คู่สนทนารู้สึกสงบ มีสภาวะจิตที่เป็นสุข ผู้ใช้งานแอพสามารถเลือกหัวข้อพูดคุยปัญหาสุขภาพจิตแบบเฉพาะเจาะจงได้ เช่น นอนไม่หลับ รู้สึกไม่ค่อยผ่อนคลาย เหนื่อยง่าย วิตกกังวลตลอดเวลา เพื่อเข้าสู่การสนทนา หรือหาทางวิเคราะห์หัวข้อนั้นๆ ได้ทันที

 

ในสถานการณ์ที่โควิด-19 ส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้ชีวิตไม่ว่าจะเป็น ด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา โดยเฉพาะผลกระทบต่อสภาพจิตใจ ที่หากเราไม่รู้จักวิธีรับมืออย่างถูกวิธีในระยะยาว อาจสร้างบาดแผลทางจิตใจ ทำให้เกิดเป็นโรคทางจิตเวชต่าง ๆ ตามมาได้ แม้โรคซึมเศร้าจะรักษาได้ด้วยวิธีทานยาต้านโรค แต่การเตรียมใจให้พร้อมเผชิญวิกฤตก็เป็นอีกตัวช่วยหนึ่งสำหรับผู้ป่วยซึมเศร้าได้

 

 

วิธีการรับมือกับสภาพจิตใจให้สามารถก้าวผ่านวิกฤต

 

1. มีสติและอยู่กับปัจจุบัน


เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นสิ่งแรกที่ควรทำคือการตั้งสติ ทำความเข้าใจว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้นั้นเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้ รู้ทันและเปิดรับการมีอยู่ของอารมณ์ ความรู้สึก เพราะเป็นธรรมดาของมนุษย์ที่หากต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ มักจะมีความคิดที่เป็นกังวลเกิดขึ้นมาเสมอ ดังนั้นการมีสติเข้าใจตัวเอง กล้าเผชิญหน้ากับปัญหาที่เข้ามาและดูว่ามีอะไรที่เราสามารถทำได้บ้างคือวิธีรับมือที่ดีที่สุด

 

2. ค้นพบตัวตนในมุมใหม่


ในช่วงที่โควิด-19 ระบาด ทำให้ไม่สามารถออกไปไหนได้ ดังนั้นการได้อยู่กับตัวเองมากขึ้นอาจทำให้เราพบเห็นตัวเองในมุมใหม่ ๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อน เช่น จากที่ทำอาหารไม่เป็นก็ค้นพบว่าตัวเองสามารถทำอาหารได้อร่อยแถมยังเป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์ช่วยกระชับความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวได้เป็นอย่างดี 

 

3. ติดตามข่าวสารแต่พอดี


การเสพข่าวสารเกี่ยวกับโควิด-19 ยังเป็นเรื่องจำเป็น แต่การรับรู้ข้อมูลมากเกินไปอาจทำให้เกิดความวิตกกังวลได้ ดังนั้นควรติดตามข่าวสารแต่พอดีเพื่อป้องกันการเสพสื่อมากเกินจนรู้สึกแพนิก และเลือกเสพเฉพาะแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ 

 

4. ส่งต่อพลังใจที่สร้างสรรค์


เราก็ยังสามารถดูแลและใส่ใจคนรอบข้างได้ด้วยการพูดคุยกับเพื่อนๆ ผ่านแชทแอปพลิเคชัน Video Call ฯลฯ ได้ตามปกติ แนะนำว่าให้พยายามหลีกเลี่ยงการพูดถึงเรื่องเครียดและเปลี่ยนไปคุยกันในเรื่องทั่วไป ไถ่ถามสารทุกข์สุขดิบของคนรอบข้างบ้าง แม้จะดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สิ่งเหล่านี้จะช่วยคลายความรู้สึกโดดเดี่ยวและบรรเทาจากความเครียดของตัวเราเองและคนรอบข้างได้

 

5. ปรึกษาจิตแพทย์


หลายคนอาจจะต้องเผชิญกับความเครียดซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การรับมือกับความเครียดที่เกิดขึ้นของแต่ละคนนั้นมีประสิทธิภาพไม่เท่ากัน จึงควรปรึกษาจิตแพทย์ เพราะนอกจากจะช่วยรักษาสุขภาพจิตได้อย่างถูกวิธีแล้ว ยังทำให้เรารับมือกับปัญหาอื่นๆ ได้ดีขึ้นด้วย

 

 

ข้อมูลจาก ประชาชาติธุรกิจ , กรมสุขภาพจิต , ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล , กระทรวงสาธารณสุข , ไทยรัฐ

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง