คาด บริโภคในจีนดีขึ้น แต่ยังไม่แตะระดับก่อนโควิด
“มอร์แกน สแตนเลย์” ระบุในรายงานล่าสุดว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคชาวจีนจะยังไม่กลับสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนวิกฤตโควิดในเร็วๆ นี้ ซึ่งจะกระทบต่อแบรนด์ข้ามชาติต่างๆ อาทิ สตาร์บัคส์ โดยนอกเหนือจากการระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายแล้ว ผู้บริโภคยังมีทางเลือกมากขึ้น
นักวิเคราะห์ของ “มอร์แกน สแตนเลย์” ชี้ว่า ในแง่ของการใช้จ่าย มี 3 ปัจจัยที่ส่งผลต่อผู้บริโภคจีนในปีนี้ ปัจจัยแรก คือ จีนไม่ได้ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยแจกเงินให้กับผู้บริโภคเหมือนสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ เพื่อฟื้นตัวจากโควิด
ปัจจัยที่ 2 คือ มาตรการควบคุมโควิดที่เข้มงวดและการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบส่งผลให้งานในภาคบริการที่เคยมีช่วงก่อนโควิดหายไปราว 30 ล้านตำแหน่ง ซึ่งแม้จะมีแนวโน้มที่ตำแหน่งงาน 20 ล้านตำแหน่งจะกลับมาในช่วงปลายปีนี้และปีหน้า แต่นักวิเคราะห์มองว่า การทำให้ตำแหน่งงานที่เหลืออีก 10 ล้านตำแหน่งกลับมาน่าจะใช้เวลานาน เนื่องจากผลกระทบจากการที่ทางการจัดระเบียบด้านการศึกษา เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต และอสังหาริมทรัพย์
ปัจจัยที่ 3 คือ ตลาดที่อยู่อาศัยยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง จากความพยายามของรัฐบาลในการจำกัดการเก็งกำไร ในขณะที่เมื่อช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ยอดขายอสังหาริมทรัพย์เคยมีส่วนผลักดันการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมาแล้ว
การระบาดของโควิด-19 และมาตรการควบคุมตั้งแต่ปี 2563-2565 ฉุดรั้งเศรษฐกิจจีนให้แย่ลง และแม้ทางการจะยุติมาตรการเข้มงวดเพื่อสกัดโควิดในเดือนธันวาคม เศรษฐกิจจีนก็ยังฟื้นตัวเพียงเล็กน้อย
“มอร์แกน สแตนเลย์” คาดว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคจีนในปีนี้จะฟื้นตัวร้อยละ 9.0 และจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 ในปีหน้า แต่ก็ยังต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤตโควิดราวร้อยละ 0.5
การบริโภคที่ชะลตัวจะกระทบต่อแบรนด์ข้ามชาติ อย่างกรณี “สตาร์บัคส์” เครือข่ายร้านกาแฟชื่อดังจากสหรัฐฯ ที่ยอดขายในจีนมีแนวโน้มเติบโตร้อยละ 7 ในปีนี้ แต่ยังคงต่ำกว่าปี 2562 ขณะเดียวกันการแข่งขันจากแบรนด์ท้องถิ่นก็เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน
ที่มาภาพ : TNN ONLINE
ที่มาข้อมูล : TNN