รีเซต

สหรัฐฯ รับรองยาชนิดแรก ใช้รักษาภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

สหรัฐฯ รับรองยาชนิดแรก ใช้รักษาภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
TNN ช่อง16
17 สิงหาคม 2566 ( 18:06 )
125

แม้จะผ่านพ้นช่วงคลอดลูกไปแล้ว แต่คุณแม่บางรายก็ต้องพบเจอกับปัญหาภาวะซึมเศร้าหลังคลอด เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนยังไม่สมดุล ซึ่งปัจจุบันในสหรัฐฯ มียารักษาภาวะซึมเศร้าหลังคลอดที่ค่อนข้างจำกัด โดยเป็นยาที่ต้องอาศัยกระบวนการฉีดและมีให้บริการในสถานพยาบาลเฉพาะแห่งเท่านั้น 


ยารักษาภาวะซึมเศร้าหลังคลอดชื่อซูร์ซูแว (Zurzuvae) 

แต่ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้อนุมัติให้มีการใช้ยาซูร์ซูแว (Zurzuvae) เพื่อรักษาภาวะซึมเศร้า ซึ่งเป็นยารับประทานชนิดแรกสำหรับรักษาภาวะซึมเศร้าหลังคลอดบุตร โดยปริมาณที่แนะนำต่อวันของยาชนิดนี้ คือ 50 มิลลิกรัม และให้รับประทานทุกเย็นพร้อมกับอาหารที่มีไขมันเป็นเวลา 14 วัน


ผลการศึกษาจากการทดลองการใช้ยาชนิดนี้เทียบกับยาหลอก พบว่าผู้ป่วยแสดงอาการที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งหลังจากการหยุดใช้ยาเป็นเวลา 4 สัปดาห์ ผู้ป่วยยังคงมีอาการที่ดีอยู่


ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ของยาซูร์ซูแว 

อย่างไรก็ตาม ยาชนิดนี้มีผลข้างเคียงคือ อาการง่วงนอน, วิงเวียนศีรษะ, ท้องร่วง, อ่อนเพลีย, อาการไข้หวัดและการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ เพื่อความปลอดภัย ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการขับขี่หรือใช้งานเครื่องจักรกลหนักเป็นเวลาอย่างน้อย 12 ชั่วโมง หลังจากรับประทานยา


นอกจากนี้ ยาอาจกระตุ้นให้เกิดความคิดและพฤติกรรมทำร้ายตนเอง ซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่พบในยาต้านอาการซึมเศร้าหลายชนิด และไม่สามารถใช้ได้ในขณะตั้งครรภ์ 


“ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเป็นภาวะที่ร้ายแรงและอาจคุกคามถึงชีวิต ซึ่งผู้หญิงจะรู้สึกเศร้า, รู้สึกผิด, ไร้ค่า แม้แต่ในกรณีที่รุนแรง มีความคิดที่จะทำร้ายตนเองหรือลูก และเนื่องจากภาวะซึมเศร้าหลังคลอดสามารถทำลายสายสัมพันธ์ระหว่างมารดาและทารกได้ จึงส่งผลต่อพัฒนาการทางร่างกายและอารมณ์ของเด็กด้วย” - ดร. ทิฟฟานี อาร์. ฟาร์ชิโอเน (Tiffany R. Farchione) ผู้อำนวยการแผนกจิตเวชศาสตร์ในศูนย์ประเมินและวิจัยยาขององค์การอาหารและยากล่าว


เมื่อยาตัวนี้เข้าสู่ตลาด จะกลายเป็หนึ่งตัวช่วยให้คุณแม่ที่ต้องเผชิญกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้อย่างมาก ซึ่งมีผู้หญิงกว่า 1 ใน 7 ที่ต้องเผชิญกับความซับซ้อนของภาวะดังกล่าว ตามรายงานของหอสมุดแพทยศาสตร์แห่งชาติสหรัฐฯ (National Library of Medicine)


ข้อมูลจาก DesignTaxi

ภาพจาก Pixabay

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง