ตำแหน่งของนักบินอวกาศแตกต่างกันอย่างไร ?
เริ่มที่ตำแหน่ง Commander หรือผู้บัญชาการ มีหน้าที่ดูแลความสำเร็จของภารกิจโดยรวม ดูแลความปลอดภัยของลูกเรือและยานอวกาศ เป็นตำแหน่งสูงสุดของนักบินอวกาศภายในยานอวกาศ โดยทุกภารกิจจะต้องมีตำแหน่งผู้บัญชาการ คำสั่งหรือการตัดสินใจของผู้บัญชาการบนยานอวกาศถือเป็นคำสั่งสูงสุดที่นักบินอวกาศคนอื่น ๆ จะต้องปฏิบัติตาม ยกตัวอย่างนักบินอวกาศที่เคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการ เช่น นีล อาร์มสตรอง (Niel Armstrong) ในภารกิจอะพอลโล 11 (Apollo 11)
ต่อมาตำแหน่ง Pilot หรือนักบิน มีหน้าที่เป็นวิศวกรระบบและคนขับยานอวกาศ อีกนัยหนึ่งคือเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการ ยกตัวอย่างนักบินอวกาศที่เคยดำรงตำแหน่งนักบิน เช่น เอ็ด ไวท์ (Ed White) ในภารกิจเจมีนี 4 (Gemini 4)
ในบางภารกิจอาจมีตำแหน่ง Mission Specialist หรือผู้เชี่ยวชาญประจำภารกิจ ซึ่งก็คือนักบินอวกาศที่มีหน้าที่เฉพาะในภารกิจนั้น ๆ ยกตัวอย่างนักบินอวกาศที่เคยดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญประจำภารกิจ เช่น โซอิจิ โนะ กุจิ (Soichi Noguchi) ในภารกิจครูล 1 (Crew 1)
นี่ยังไม่ใช่ตำแหน่งทั้งหมดของนักบินอวกาศ ตำแหน่งและจำนวนของนักบินอวกาศจะแตกต่างกันออกไปตามรูปแบบของภารกิจ สามารถลดและเพิ่มตำแหน่งได้ตามความเหมาะสม ในบางครั้ง นักบินอวกาศ 1 คน สามารถดำรงตำแหน่งบนยานอวกาศได้มากกว่า 1 ตำแหน่ง
ในขณะที่ตำแหน่งผู้บัญชาการ เป็นตำแหน่งที่จำเป็นต้องมีในทุกภารกิจ เนื่องจากการส่งมนุษย์ออกไปนอกโลกเป็นภารกิจที่อันตราย จึงจำเป็นที่จะต้องมีการทำงานอย่างเป็นระบบ และจะต้องมีนักบินอวกาศ 1 คน ที่มีคุณสมบัติและประสบการณ์มากพอที่จะตัดสินใจได้ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน
ซึ่งก่อนจะขึ้นบิน จะมีการประกาศรายชื่อนักบินอวกาศที่จะได้ขึ้นบินในภารกิจนั้น ๆ จากนักบินอวกาศทั้งหมด และจะมีการประกาศรายชื่อนักบินอวกาศสำรองด้วย
ทั้งนี้ นักบินอวกาศไม่ได้ทำงานเพียงลำพัง แต่ยังมีทีมเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดิน หรือ Ground Station คอยทำการสื่อสารอยู่ตลอด อาจเพื่อแนะนำนักบินอวกาศในการขับยาน เตือนนักบินอวกาศหากมีแนวโน้มเกิดอันตราย และอื่น ๆ
ข้อมูลจาก en.wikipedia.org
ภาพจาก www.nasa.gov