สหรัฐฯ อนุมัติให้นิวรัลลิงก์ของอีลอน มัสก์ ฝังชิปในสมองมนุษย์
นิวรัลลิงก์ (Neuralink) บริษัทผู้พัฒนานวัตกรรมการปลูกถ่ายไมโครชิปในสมองของ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) นักธุรกิจพันล้านชื่อดัง กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้อนุมัติการทดสอบการฝังชิปกับมนุษย์แล้ว
โดยเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม นิวรัลลิงก์ (Neuralink) แจ้งข่าวดีดังกล่าวผ่านทวิตเตอร์ และกล่าวถึงความสำเร็จในขั้นต้นนี้ว่าเป็น “ก้าวแรกที่สำคัญซึ่งวันหนึ่งจะทำให้เทคโนโลยีของเราสามารถช่วยเหลือผู้คนจำนวนมากได้” โดยเป็นผลมาจากการดำเนินงานที่น่าทึ่งของบริษัท ร่วมกับ FDA ที่ให้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิด
ในปัจจุบันนิวรัลลิงก์ (Neuralink) ยังไม่มีแผนการเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมทดลองโครงการดังกล่าว แต่ได้ประกาศว่าจะแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องเร็วๆ นี้ ขณะที่บนเว็บไซต์ของบริษัทเน้นย้ำว่า นิวรัลลิงก์ (Neuralink) จะดำเนินกระบวนการทางวิศวกรรมทั้งหมดโดยยึดเรื่องความปลอดภัย ความเข้าถึงได้ และความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งสำคัญประการแรก
ด้านผู้เชี่ยวชาญได้เตือนว่าจะต้องมีการทดสอบการเชื่อมต่อไมโครชิปกับสมองมนุษย์นี้อย่างครอบคลุม ทั้งในด้านเทคนิคและจริยธรรม หากนิวรัลลิงก์ (Neuralink) ต้องการที่จะให้บริการนี้อย่างแพร่หลาย
อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่ความพยายามครั้งแรกของนิวรัลลิงก์ (Neuralink) ในการขออนุมัติจาก FDA เพราะรายงานของรอยเตอร์ (Reuters) สำนักข่าวเจ้าดังของสหรัฐเมื่อเดือนมีนาคมระบุว่า ก่อนหน้านี้บริษัทพยายามขออนุมัติการทดสอบในมนุษย์จาก FDA มาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2022 แต่ถูกปฏิเสธเนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัย
อีกทั้งการประกาศข่าวดีในครั้งนี้ยังเกิดขึ้นหลังจากที่นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิส โลซาน หรืออีพีเอฟแอล (EPFL) ได้ทำการทดลองเชื่อมต่อระบบประสาทเข้ากับอุปกรณ์รับส่งสัญญาณจากสมองและประสบความสำเร็จในกลุ่มทดลองแรก
ทั้งนี้ Neuralink เป็นบริษัทที่อีลอน มัสก์ร่วมก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2016 ภายใต้เป้าหมายที่จะช่วยฟื้นฟูการมองเห็นและการเคลื่อนไหวของผู้คน เพราะเทคโนโลยีตัวนี้มีลักษณะเป็นระบบการเชื่อมต่อสมองกับคอมพิวเตอร์ หรือ Brain-Computer Interfaces (BCI) ซึ่งจะช่วยยกระดับชีวิตให้ผู้ที่มีอาการอัมพาตหรือตาบอดสามารถใช้คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์สมาร์ตโฟนได้ และหากมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมันอาจจะเป็นการทลายกำแพงการเชื่อมต่อระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ ช่วยให้มนุษย์สามารถสั่งการทำงานของสมาร์ตโฟนหรือการควบคุมรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติโดยใช้ความคิดในสมอง
โดยนิวรัลลิงก์ (Neuralink) ได้พัฒนาไมโครชิปเพื่อแปรสัญญาณที่ผลิตจากสมองและถ่ายทอดข้อมูลดังกล่าวไปยังอุปกรณ์ผ่านบลูทูธ ซึ่งนวัตกรรมนี้ได้มีการทดสอบในลิงมาแล้วตั้งแต่ปี 2017 และเมื่อเดือนเมษายนปี 2021 Neuralink ได้เผยแพร่ภาพวิดีโอของลิงที่ถูกปลูกถ่ายชิปขณะเล่นเกมด้วยการใช้แค่ความคิดสั่งการเท่านั้น
มัสก์เคยกล่าวก่อนหน้านี้ด้วยว่า เทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยคลายความกังวลที่ว่ามนุษย์จะถูกปัญญาประดิษฐ์ (AI) แทนที่ได้
แน่นอนว่าเทคโนโลยีเชื่อมโยงกับสมองเข้ากับคอมพิวเตอร์นั้นมีความท้าทายทางด้านศีลธรรมอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการทดสอบฝังชิปในสัตว์ที่ทางนิวรัลลิงก์ (Neuralink) เคยถูกสอบสวนเกี่ยวกับการดำเนินงานที่ละเมิดหลักสวัสดิภาพของสัตว์เมื่อปลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากพนักงานของบริษัทได้ออกมาร้องเรียนว่านิวรัลลิงก์ (Neuralink) เร่งรัดการทดสอบจนทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตสัตว์โดยไม่จำเป็น ตามรายงานของรอยเตอร์ระบุว่าบริษัทได้คร่าชีวิตสัตว์ทดลองอย่าง หมู แกะ และลิงไปกว่า 1500 ตัว ตั้งแต่ปี 2018 อีกทั้งยังมีความกังวลว่าการทดลองฝังชิปในสมองจะก่อให้เกิดการควบคุมสภาพจิตใจหรือการเปลี่ยนแปลงลักษณะนิสัยของมนุษย์
ที่มาของข้อมูล Reuters
ที่มาของรูปภาพ Neuralink