รีเซต

เติมแบคทีเรียลงดินจากดาวอังคาร ช่วยให้พืชเจริญเติบโตดีขึ้น 75%

เติมแบคทีเรียลงดินจากดาวอังคาร ช่วยให้พืชเจริญเติบโตดีขึ้น 75%
TNN ช่อง16
30 กันยายน 2564 ( 20:40 )
160

แน่นอนว่าการขนส่งอาหารจากโลกไปดาวอังคาร คงใช้ระยะเวลานานและใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล แต่เพื่อให้นักบินอวกาศยังมีอาหารประทังชีวิตบนดาวเคราะห์สีแดงนี้ จึงเป็นการดีกว่าถ้านักบินอวกาศสามารถปลูกพืชเพื่อเป็นแหล่งอาหารบนดาวอังคารได้

สภาพพื้นดินบนดาวอังคาร
ที่มาของภาพ http://tomatosphere.letstalkscience.ca/Resources/library/ArticleId/5302/soil-on-mars.aspx

 


แม้เชื่อกันว่าดาวอังคารน่าจะมีสภาพที่เหมาะสมในการดำรงชีวิตของมนุษย์โลกได้ดีกว่าดาวเคราะห์ดวงอื่น แต่สิ่งแวดล้อมบนดาวก็ยังห่างไกลจากคำว่า "ชีวิต" เมื่อเทียบกับโลกของเรา ดินบนดาวอังคารขาดแร่ธาตุสำคัญที่จะใช้ในการเพาะปลูก นั่นหมายความว่าถ้าคุณใช้ดินบนดาวอังคารปลูกพืชพรรณธัญาอาหาร โอกาสสำเร็จจะน้อยมากเลยทีเดียว


ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์ได้ทดลองใส่เศษหญ้า, ปุ๋ยคอก และไส้เดือนลงในตัวอย่างดินจากดาวอังคาร เพื่อช่วยปรับสภาพให้เหมาะกับการปลูกพืช ปรากฏว่ามันช่วยปรับปรุงคุณภาพของดินได้จริง แต่นักวิทยาศาสตร์เหล่านั้นเชื่อว่ามันยังขาดส่วนประกอบสำคัญอะไรบางอย่างไป


สิ่งที่ขาดหายไปคือแบคทีเรียในดินที่ช่วยในการตรึงแก๊สไนโตรเจนในชั้นบรรยากาศ เป็นที่ทราบกันดีว่าแก๊สไนโตรเจนมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืช และเป็นธาตุอาหารหลักที่ปุ๋ยทุกชนิดต้องมี (บนถุงปุ๋ยมักจะเขียนอัตราส่วนของแร่ธาตุหลักเอาไว้ว่า N : P : K หมายถึงอัตราส่วนของธาตุ ไนโตรเจน : ฟอสฟอรัส : โพแทสเซียส) ซึ่งในดินบนโลกจะมีแบคทีเรียชนิดนี้อยู่ ในขณะที่ดินของดาวอังคารจะไม่มีสิ่งมีชีวิตอะไรอยู่เลย !!

เปรียบเทียบการปลูกพืชในดินดาวอังคาร (ซ้าย) เติมแบคทีเรีย และ (ขวา) ไม่เติมแบคทีเรีย
ที่มาของภาพ https://newatlas.com/space/crops-mars-soil-bacteria/

 


ดังนั้น การเติมแบคทีเรียที่ตรึงไนโตรเจนจากชั้นบรรยากาศ น่าจะช่วยปรับปรุงให้ดินของดาวอังคารมีคุณภาพดีขึ้น นักวิทยาศาสตร์จึงทดลองใช้แบคทีเรียกลุ่มไรโซเบียม ผสมลงไปในดินของดาวอังคารและติดตามการเติบโตของพืชที่ปลูก ปรากฏว่าเมื่อเทียบก่อนและหลังจากเติมแบคทีเรีย พบว่ารากและลำต้นของพืชเจริญเติบโตเร็วขึ้นถึง 75%


ความสำเร็จนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเพาะปลูกพืชในระหว่างทำภารกิจบนดาวอังคารแล้ว การที่พืชเจริญเติบโตได้ก็เท่ากับว่าจะเป็นการช่วยเพิ่มแก๊สออกซิเจนและลดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศของดาวอังคารได้ด้วย ไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจจะได้เห็นการทำการเกษตรบน "ทุ่งดาวอังคาร" ก็เป็นได้


ขอขอบคุณข้อมูลจาก New Atlas

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง