รีเซต

เตือน! อัมพาตหน้าครึ่งซีก โรคใกล้ตัวพบได้ทุกช่วงอายุ-เกิดจากสาเหตุอะไร?

เตือน! อัมพาตหน้าครึ่งซีก โรคใกล้ตัวพบได้ทุกช่วงอายุ-เกิดจากสาเหตุอะไร?
TNN ช่อง16
11 มิถุนายน 2565 ( 19:05 )
342

จากศิลปินชื่อดังระดับโลก จัสติน บีเบอร์ (Justin Bieber) ต้องยกเลิกกำหนดการแสดงคอนเสิร์ต เนื่องจากมีอาการป่วยกะทันหันจากการติดเชื้อไวรัส ส่งผลให้เกิดอาการอัมพาตที่ใบหน้าครึ่งซีก 

จัสติน บีเบอร์ ได้ได้รับการวินัจฉัยว่าเป็น "โรครัมเซย์ฮันต์ ซินโดรม" (Ramsay Hunt Syndrome) หลังจากติดเชื้อไวรัสที่สร้างความเสียหายให้กับระบบประสาทหูและระบบประสาทใบหน้าโดยอาการค่อนข้างรุนแรง ซึ่งส่งผลให้ใบหน้าซีกขวาไปจนถึงบริเวณกกหูนั้นเป็นอัมพาตขยับไม่ได้ตามปกติ

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก กรมการแพทย์ โดยสถาบันประสาทวิทยา เผยอาการที่เกิดการอ่อนแรงของใบหน้าครึ่งซีก ทำให้ไม่สามารถขยับใบหน้าซีกนั้นได้ เป็นผลมาจากการอักเสบของเส้นประสาทใบหน้าหรือเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 

โรคเส้นประสาทใบหน้าหรือเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 อักเสบ

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคเส้นประสาทใบหน้าหรือเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 อักเสบ หรือเบลล์พัลซี ( Bell’s palsy ) คือ ภาวะที่กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือเกิดอัมพาตชั่วขณะ สามารถพบได้ทุกช่วงอายุ

สาเหตุของโรค

โดยมีสาเหตุมาจากเส้นประสาทบนใบหน้าที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อใบหน้าเกิดความผิดปกติ ส่งผลให้ใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก มักจะเป็นข้างใดข้างหนึ่ง หลับตาไม่สนิท มุมปากขยับได้ลดลง ดูดน้ำจากหลอดไม่ได้ มีน้ำรั่วที่มุมปาก หรือมีอาการเลิกคิ้วไม่ได้ การรับรสที่ปลายลิ้นผิดปกติ น้ำลายแห้ง น้ำตาแห้ง การได้ยินของหูข้างที่มีอาการลดลง หรือได้ยินเสียงก้อง และ มีอาการปวดบริเวณหลังใบหูร่วมด้วย 

บางรายเกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น โรคอีสุกอีไส, เชื้อเริม, งูสวัด ที่แฝงอยู่ในปมประสาท หากร่างกายมีภูมิต้านทานต่ำลงจะทำให้เกิดโรคนี้ได้ ถือเป็นปัญหาสุขภาพ ที่เกิดขึ้นทันที และมักจะเกิดขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง 

การรักษา

ด้านนายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีกเป็นโรคที่สามารถค่อยๆ ฟื้นตัวและดีขึ้นเองได้ โดยแพทย์จะวินิจฉัยจากการซักประวัติ การตรวจร่างกายเป็นสำคัญ ร่วมกับการตรวจการทำงานของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ (NCS, EMG) การรักษาโรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก คือ รักษาตามสาเหตุที่ทำให้โรค เช่น ให้ยาฆ่าเชื้อไวรัสกรณีที่มีการติดเชื้อไวรัสกลุ่มเริม หรืองูสวัดร่วมด้วย

การให้ยาสเตียรอยด์เพื่อลดอาการอักเสบในรายที่ไม่มีการติดเชื้อ ร่วมกับการทำกายภาพบำบัดใบหน้า เช่น การบริหารกล้ามเนื้อใบหน้า, การกระตุ้นเส้นประสาทด้วยกระแสไฟฟ้า หรือนวดใบหน้า ช่วยลดภาวะกล้ามเนื้อตึงเกร็ง และการผ่าตัดในผู้ป่วยบางราย ในผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ควรปิดตาข้างที่มีอาการ หรือ ใส่แว่นกันแดด ร่วมกับใช้น้ำตาเทียม และปิดตาเวลานอนเพื่อลดอาการเคืองตา ตาแดง หรือมีแผลที่แก้วตา 

อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ป่วยมีอาการใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการ เพราะผลของการรักษาจะได้ผลดีถ้าได้เริ่มรักษาได้เร็ว



ข้อมูลจาก กรมการแพทย์

ภาพจาก AFP / อินสตาแกรม @justinbieber

ข่าวที่เกี่ยวข้อง