รีเซต

Neuralink อัปเดตความคืบหน้า โชว์คลิปผู้ป่วยฝังชิปใช้สมองควบคุมหมากรุก

Neuralink อัปเดตความคืบหน้า โชว์คลิปผู้ป่วยฝังชิปใช้สมองควบคุมหมากรุก
TNN ช่อง16
21 มีนาคม 2567 ( 12:37 )
36

นิวรัลลิงก์ (Neuralink) สตาร์ทอัปด้านชิปสมองของเจ้าพ่อเทคโนโลยี อีลอน มัสก์ (Elon Musk) เผยคลิปวิโอสตรีมมิ่งของผู้ป่วยรายแรกของบริษัท ที่เข้ารับการฝังชิปในสมอง โชว์การเล่นหมากรุกออนไลน์ โดยใช้สัญญาณจากสมองในการควบคุมเมาส์ เพื่อบังคับการเดินหมากรุกในคอมพิวเตอร์ 

ภาพจากรอยเตอร์ 

 

ผู้ป่วยรายนี้เป็นชายวัย 29 ปี นามว่า โนแลนด์ อาร์บอห์ (Noland Arbaugh) ซึ่งป่วยเป็นอัมพาตใต้บริเวณไหล่ลงไป จากอุบัติเหตุขณะดำน้ำ และได้เข้ารับการฝังชิปสมองจากบริษัทนิวรัลลิงก์ในเวลาต่อมา โดยเขาได้สาธิตการเล่นเกมหมากรุกบนด้วยการใช้ความคิดของเขาเลื่อนหมากรุกบนจอ โดยมี บลิส แชปแมน (Bliss Chapman) วิศวกรของบริษัทอยู่ข้าง ๆ


โดยหลังจากได้รับการอนุมัติจาก FDA สำหรับการทดลองทางคลินิกในมนุษย์ในเดือนพฤษภาคมปี 2023  อาร์บอห์ ก็กลายเป็นหนึ่งในหกผู้เข้ารับการทดสอบ ซึ่งเขาเผยความรู้สึกขณะโชว์เล่นหมากรุกโดยที่ไม่ต้องสัมผัสกับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ว่า มันทำได้ง่ายมาก เขาเพียงแค่จ้องมองจุดที่ต้องการบนหน้าจอ จากนั้นเมาส์ หรือตัวหมากรุก ก็จะเลื่อนไปในจุดที่เขาต้องการเอง ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่เขารู้สึกว่าสุดยอดมาก 

ภาพจากนิวรัลลิงก์

 

ผู้ป่วยรายนี้ยังได้เผยถึงประสบการณ์ผ่าตัดฝังชิป ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า ขั้นตอนการฝังชิปเป็นไปได้ด้วยดี โดยเขาสามารถออกจากโรงพยาบาลในอีกหนึ่งวันให้หลัง และไม่ได้รับผลกระทบของการผ่าตัด กับความสามารถในการใช้สติปัญญาใด ๆ (cognitive impairments)


สำหรับการฝังชิปในสมองของบริษัท นิวรัลลิงก์ มีเป้าหมายเพื่อต่อยอดไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีฝังชิป ที่จะกลายเป็นทางเลือกของการแพทย์สมัยใหม่ เพื่อให้การผ่าตัดฝังชิปทำได้อย่างรวดเร็ว สำหรับใช้ในการรักษาโรคหรืออาการต่าง ๆ เช่น โรคอ้วน ออทิสติก โรคซึมเศร้า และโรคทางจิตเภท

ภาพจากนิวรัลลิงก์

 

โดยแนวทางของบริษัท จะใช้หุ่นยนต์เพื่อผ่าตัดวางส่วนต่อประสาน ระหว่างสมองและคอมพิวเตอร์ หรือที่เรียกว่า “brain-computer interface” ในพื้นที่ของสมองส่วนที่ควบคุมการสั่งการเคลื่อนไหว โดยมีเป้าหมายในช่วงแรกคือการทำให้ผู้ทดลองสามารถควบคุมเคอร์เซอร์เมาส์ หรือควบคุมแป้นพิมพ์ที่เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ได้ โดยใช้เพียงแค่ความคิดเท่านั้น


ซึ่งถ้าหากบริษัทสามารถพัฒนาเทคโนโลยีได้สำเร็จ ก็อาจทำให้มนุษย์สามารถใช้สัญญาณประสาทควบคุมเทคโนโลยีภายนอกได้ เอื้อประโยชน์ต่อ ผู้ป่วยอัมพาต หรือผู้ที่มีภาวะบกพร่องทางการเคลื่อนไหว สามารถฟื้นฟูความสามารถที่สูญเสียไป และใช้ชีวิตประจำวันได้ง่ายมากยิ่งขึ้น



ข้อมูลจาก reutersconnectinterestingengineering

ข่าวที่เกี่ยวข้อง