สัญญาณเตือน อัมพาตเฉียบพลัน (Stroke) พร้อมวิธีรับมืออย่างทันท่วงที

"อยู่ดีๆ พูดไม่ชัด แขนขาไม่มีแรง หรือหน้าเบี้ยว... อาจไม่ใช่เรื่องเล่นๆ!" โรคหลอดเลือดสมอง หรือที่เรียกกันว่า "สโตรก" เป็นภาวะฉุกเฉินที่เกิดขึ้นเมื่อการไหลเวียนของเลือดไปยังสมองถูกขัดขวางอย่างเฉียบพลัน ส่งผลให้สมองขาดออกซิเจนและสารอาหารที่จำเป็น ซึ่งอาจทำให้เซลล์สมองเสียหายถาวรหรือเกิดอาการอัมพาตได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว อาจนำไปสู่ความพิการถาวรหรือเสียชีวิตได้
“ผลสำรวจในประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคหลอดเลือดในสมอง 3 คน ทุกๆ 1,000 คน และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น” (ข้อมูลจาก วารสารประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย ปี 2021)
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง ภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นได้จากสองสาเหตุหลัก ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมองตีบ ซึ่งเกิดจากลิ่มเลือดหรือคราบไขมันที่อุดตันหลอดเลือดสมอง และ โรคหลอดเลือดสมองแตก ซึ่งส่วนใหญ่ภาวะนี้มักสัมพันธ์กับผู้ป่วยที่มีโรคความดันโลหิตสูง หรือผู้มีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะนี้ได้แก่ เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่ โรคหัวใจ โรคอ้วน การขาดการออกกำลังกาย และประวัติครอบครัวที่มีโรคหลอดเลือดสมอง
วิธีสังเกตอาการเบื้องต้น อาการของโรคหลอดเลือดสมองมักเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน และสามารถจำได้ง่ายด้วยหลัก FAST ได้แก่
F (Face) – ใบหน้ามีอาการชา หรือมุมปากตกข้างหนึ่ง
A (Arm) – แขนหรือขาข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรง ยกไม่ขึ้น
S (Speech) – พูดไม่ชัด หรือพูดแล้วคนรอบข้างฟังไม่เข้าใจ
T (Time) – หากมีอาการดังกล่าว ควรรีบไปโรงพยาบาลโดยด่วน
นอกจากนี้ อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เวียนศีรษะ บ้านหมุน สูญเสียการทรงตัว เห็นภาพซ้อน หรือปวดศีรษะรุนแรงโดยไม่มีสาเหตุ หากพบว่าตนเองหรือคนใกล้ตัวมีอาการเหล่านี้ ควรรีบขอความช่วยเหลือทางการแพทย์โดยเร็วที่สุด
วิธีรับมือเบื้องต้น อาการข้างต้นมักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ถึงแม้ว่าอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นชั่วขณะ หรือดีขึ้นเอง เมื่อพบผู้ป่วยที่มีอาการใกล้เคียงโรคหลอดเลือดสมอง ควรรีบโทรแจ้งสายด่วนแพทย์ฉุกเฉิน 1669 ทันที การรีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด เพื่อให้แพทย์ประเมินและรับการรักษาอย่างทันท่วงทีจะช่วยลดความเสี่ยงต่อความรุนแรงของภาวะทุพพลภาพได้ ห้ามให้ยาแอสไพรินหรือยาอื่นๆ โดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ เนื่องจากอาจเป็นอันตรายได้ในกรณีที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองแตก
แนวทางการรักษาทางการแพทย์ เมื่อผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาล แพทย์จะทำการวินิจฉัยและให้การรักษาตามประเภทของโรคหลอดเลือดสมองที่เกิดขึ้น ซึ่งมี 2 ประเภทหลักคือ โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน (Ischemic Stroke) หรือ โรคหลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic Stroke)
หากเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบ อาจได้รับการรักษาด้วย ยาสลายลิ่มเลือด (tPA) หรือทำหัตถการขยายหลอดเลือดด้วยสายสวน ในกรณีที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองแตก อาจต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อหยุดเลือดออกและลดแรงดันในสมอง การรักษาอย่างรวดเร็วภายใน 3-4 ชั่วโมงแรกมีผลต่อการลดความเสียหายของสมองและเพิ่มโอกาสในการฟื้นตัวของผู้ป่วยอย่างมาก
การป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดสมองเป็นภาวะร้ายแรงที่สามารถป้องกันได้โดยการควบคุมปัจจัยเสี่ยงและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลสุขภาพ อาทิ เช่น การลดอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว ลดอาหารเค็ม และการงดสูบบุหรี่ นอกจากนี้ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวานหรือไขมันในเลือดสูง ควรได้รับการตรวจสุขภาพและติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สามารถควบคุมโรคและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โรคหลอดเลือดสมองเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุด การสังเกตอาการและเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงทีสามารถช่วยลดความรุนแรงของโรคและเพิ่มโอกาสรอดชีวิตได้ การดูแลสุขภาพและลดปัจจัยเสี่ยงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคนี้ ดังนั้น ทุกคนควรให้ความสำคัญกับสุขภาพของตนเอง และเรียนรู้วิธีสังเกตอาการของโรคหลอดเลือดสมองเพื่อสามารถช่วยเหลือตนเองและผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ