AI เพิ่มความแม่นยำการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมองสองเท่า
นักวิจัยจากสถาบันการแพทย์ในต่างประเทศ จับมือกันพัฒนาซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ตัวใหม่ ที่สามารถอ่านผลการสแกนสมองของผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke เพื่อบ่งชี้เวลาที่เกิดอาการของโรคได้อย่างแม่นยำ ทำให้แพทย์มีตัวช่วยตัดสินใจในการรักษาได้ดีขึ้น
ดร. พอล เบนท์ลีย์ นักประสาทวิทยาที่ปรึกษา ซึ่งเป็นผู้นำการศึกษาวิจัย กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า การรักษาโรคหลอดเลือดสมองจะได้ผลดีที่สุด หากเริ่มต้นการรักษาเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะยาและวิธีการรักษาบางอย่างจะมีประสิทธิภาพสูงสุดในช่วงเวลาแรก ๆ หลังเกิดโรค หากช้าเกินไป อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อสมองมากขึ้น
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ แพทย์มักจะไม่สามารถบอกเวลาที่แน่ชัดได้ว่าโรคหลอดเลือดสมองเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ซึ่งทำให้การตัดสินใจรักษาเป็นไปอย่างยากลำบาก การพัฒนา AI ตัวนี้จึงช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว โดยการวิเคราะห์ภาพสแกนสมอง ทำให้แพทย์สามารถประมาณเวลาที่เกิดโรคได้แม่นยำขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การรักษาเป็นไปอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ซอฟต์แวร์นี้คิดค้นโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน (Imperial College London) ประเทศอังกฤษ, มหาวิทยาลัยเทคนิคมิวนิก (Technical University of Munich) ประเทศเยอรมนี และมหาวิทยาลัยเอดินบะระ (Edinburgh University) จากสกอตแลนด์
ทั้งนี้ทีมพัฒนาเคลมว่าซอฟต์แวร์ที่สร้างขึ้น สามารถช่วยระบุเวลาที่เกิดโรคหลอดเลือดสมองได้แม่นยำเป็น 2 เท่าของวิธีการปัจจุบัน หรือการประเมินด้วยสายตาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะพิจารณาจากความเข้มของสีบริเวณหลอดเลือดสมอง จากภาพสแกนที่ได้
สำหรับโรคหลอดเลือดสมอง หรือ สโตรก (Stroke) คือภาวะที่การจ่ายเลือดไปยังสมองบางส่วนถูกรบกวนหรือลดลง ทำให้สมองขาดเลือด หรือบางครั้งมีเลือดออกในสมอง ที่อาจส่งผลให้เซลล์สมองตาย ซึ่งหากการรักษาล่าช้าออกไปแม้แต่นาทีเดียว สมองก็อาจได้รับความเสียหายอย่างถาวร ดังนั้นการรักษาอย่างเร่งด่วนจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะช่วยลดความรุนแรง และยังช่วยลดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นอีกด้วย
ข้อมูลจาก reutersconnec