รีเซต

สวิตเซอร์แลนด์พัฒนาวิธีการกระตุ้นสมองแบบใหม่ ช่วยผู้ป่วยอัมพาตเดินได้อีกครั้ง

สวิตเซอร์แลนด์พัฒนาวิธีการกระตุ้นสมองแบบใหม่ ช่วยผู้ป่วยอัมพาตเดินได้อีกครั้ง
TNN ช่อง16
11 ธันวาคม 2567 ( 12:39 )
14

นักวิจัยที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิส โลซานน์ (EPFL) และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยโลซานน์ ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทดลองทำการรักษาผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังจนเป็นอัมพาตบางส่วนจำนวน 2 ราย ด้วยการ กระตุ้นสมองส่วนลึก (Deep Brain Stimulation หรือ DBS) พบว่าช่วยให้การเดินของพวกเขาดีขึ้น ที่น่าสนใจคือ การบำบัดนี้มุ่งเป้าไปที่บริเวณสมองที่มนุษย์ไม่เคยรู้มาก่อนว่าเกี่ยวข้องกับทักษะการเคลื่อนไหว


DBS เป็นการผ่าตัดฝังอิเล็กโทรด (ตัวที่พาไฟฟ้าเข้าหรือออกจากวัตถุ) ในบริเวณเฉพาะของสมอง ซึ่งสามารถกระตุ้นเซลล์ประสาทเฉพาะได้ วิธีการนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประโยชน์ในการรักษาอาการทางระบบประสาท เช่น ภาวะซึมเศร้า โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ และโรคเบื่ออาหาร


ล่าสุดวิธี DBS ถูกนำมาใช้เพื่อรักษาผู้ป่วยอัมพาตครึ่งล่าง 2 ราย โดยนักวิจัยได้ทำการผ่าตัดฝังอิเล็กโทรดเข้าไปในบริเวณสมองส่วนไฮโปทาลามัสด้านข้าง (LH - lateral hypothalamus) ขณะที่ผู้ป่วยยังรู้สึกตัวเต็มที่


ผลลัพธ์พบว่าผู้ป่วยทั้ง 2 แสดงให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวที่ดีขึ้นทันทีเมื่อได้รับการกระตุ้นสมองส่วนลึก ส่วนในระหว่างการฟื้นฟู พวกเขาก็สามารถเดิน หรือขึ้นบันไดได้ โดยไม่ต้องรับการช่วยเหลือจากคนอื่นเหมือนปกติ ที่สำคัญไปกว่านั้นคือหลังจากปิดการกระตุ้นไปแล้ว แต่การเคลื่อนไหวที่ถูกปรับปรุงให้ดีขึ้นนี้ก็ยังคงอยู่


สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างในการศึกษานี้ก็คือ บริเวณสมองที่ได้รับการศึกษาในครั้งนี้ หรือก็คือ ไฮโปทาลามัสด้านข้าง (LH) มนุษย์ไม่เคยทราบมาก่อนว่ามีความเกี่ยวข้องกับทักษะการเคลื่อนไหว โดยปกติมันจะเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการกิน การบริโภคพลังงาน (ควบคุมความหิวและพฤติกรรมการกิน) ซึ่งก่อนหน้านี้ นักวิจัยได้ทำการทดลองในหนูที่มีอาการบาดเจ็บที่ไขสันหลังบางส่วน พบว่า การกระตุ้นเซลล์ประสาท LH ช่วยให้หนูสามารถเดินได้ดีขึ้น ซึ่งช่วยปูทางไปสู่การทดลองในมนุษย์ 


โจเซลีน บล็อค (Jocelyne Bloch) ศัลยแพทย์ประสาทผู้ทำการผ่าตัด อธิบายรายละเอียดการทดลองว่า “หลังจากฝังอิเล็กโทรด และทำการกระตุ้นแล้ว ผู้ป่วยรายแรกก็พูดออกมาทันทีว่า “ฉันรู้สึกถึงขาของฉัน” เมื่อกระตุ้นมากขึ้น ผู้ป่วยก็บอกว่า “ฉันรู้สึกอยากเดิน” การที่ได้รับฟีดแบ็กแบบเรียลไทม์นี้ ยืนยันว่าเราได้กำหนดเป้าหมายถูกที่ แม้ว่าบริเวณนี้ (LH) จะไม่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการเคลื่อนไหวขาของมนุษย์ก็ตาม”


โจเซลีน บล็อค กล่าวเพิ่มเติมว่า การค้นพบครั้งนี้จึงถือว่าสำคัญ เพราะจะนำไปสู่การทำความเข้าใจใหม่ว่าสมองส่วนใดส่งผลต่อระบบการทำงานในร่างกายส่วนไหนบ้าง อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้ไม่มีรายงานผลข้างเคียงด้านลบ แต่ทีมวิจัยระบุว่าจะต้องมีการทดลองเพิ่มเติมเพื่อรับรองความปลอดภัยและประสิทธิภาพของเทคนิคนี้ ซึ่งหากยืนยันว่าเทคนิคนี้ได้ผลดี มนุษย์ก็อาจมีเครื่องมือใหม่ที่จะช่วยฟื้นฟูการเคลื่อนไหวได้


งานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature Medicine ฉบับวันที่ 2 ธันวาคม 2024


ที่มาข้อมูล NewAtlas, EPFL, Nature

ที่มารูปภาพ Reuters

ข่าวที่เกี่ยวข้อง