จีนติด “กังหันลม” ขนาด 18 MW สำเร็จเป็นรายแรกของโลก กำลังการผลิตเทียบเท่าจ่ายไฟให้บ้านปีละ 36,000 หลัง
โต้งฝาง อิเล็กทริก คอร์ปอเรชัน (Dongfang Electric Corporation: DEC) บริษัทรัฐวิหสาหกิจด้านพลังงานจากจีน ติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้ากำลังการผลิต 18 เมกะวัตต์ (MW) ได้เป็นรายแรกของโลก ณ บริเวณชายฝั่งในมณฑลกวางตุ้ง พร้อมคาดการณ์ว่ากำลังการผลิตที่ได้จะสามารถผลิตไฟฟ้าสำหรับบ้านเรือนกว่า 36,000 ครัวเรือนต่อปี
ข้อมูลกังหันลม 18 MW ตัวแรกของโลกจากจีน
กังหันลมดังกล่าวมีเส้นผ่านศูนย์กลางใบพัดอยู่ที่ 260 เมตร มีพื้นที่รับลมรวมกว่า 53,000 ตารางเมตร หรือมากกว่า 7 เท่า ของสนามฟุตบอลขนาดมาตรฐาน โดยทางบริษัทระบุว่า กังหันลมดังกล่าวยังสามารถผลิตไฟฟ้าในอัตรา 20 MW ได้ หากเป็นวันที่มีกระแสลมเพียงพออีกด้วย
ทาง DEC ระบุว่า กังหันลมที่อยู่บริเวณชายฝั่งในมณฑลกวางตุ้งจะสามารถผลิตไฟฟ้าตลอดทั้งปีได้ 72 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) เทียบเท่ากับการผลิตไฟฟ้าสำหรับ 36,000 ครัวเรือนตลอดทั้งปี โดยการติดตั้งแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา
แนวทางการพัฒนากังหันลมในจีนเทียบกับโลกตะวันตก
ทั้งนี้ เว็บไซต์อินเทอร์เรสติง เอ็นจิเนียริง (Interesting Engineering) ให้ความเห็นว่าการพัฒนากังหันลมผลิตไฟฟ้าในจีนมีความแตกต่างจากส่วนอื่นของโลก โดยอ้างถึงแผนการพัฒนากังหันลมจากฝั่งตะวันตก เช่น เวสทัส (Vestas) ผู้ผลิตกังหันลมชื่อดังจากเดนมาร์กที่ไม่มีแนวทางการพัฒนากังหันลมให้ใหญ่กว่า 16 MW
รวมไปถึง จีอี อิเล็กทริก (GE Electric) จากสหรัฐอเมริกาที่แม้เคยมีแผนพัฒนากังหันลมกำลังการผลิต 17 - 18 MW แต่สุดท้ายก็พับแผนและมุ่งเน้นการรักษาตลาดและเสริมกำลังการผลิตกังหันลมของบริษัทที่มีคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่องในปัจจุบันแทน
ในขณะที่จีน นอกจากจะเน้นการพัฒนาโดยการขยายขนาดใบพัดเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตแล้ว ยังมีการพัฒนาให้ใบพัดสามารถผลิตพลังงานได้ต่อเนื่องและยาวนานมากขึ้นแม้ว่าจะอยู่ในช่วงที่กระแสลมอ่อนแรงก็ตามด้วยเช่นกัน ซึ่งทำให้จีนกลายเป็นผู้เล่นสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมกังหันลมผลิตไฟฟ้าในปัจจุบัน
ข้อมูลจาก Interesting Engineering
ภาพจาก DEC