Tianwen 1 และ Zhurong ภารกิจทำให้จีนกลายเป็นชาติที่ 2 ลงจอดบนดาวอังคารสำเร็จ
China National Space Administration (CNSA) หน่วยงานอวกาศของประเทศจีนออกมาประกาศความสำเร็จ ของภารกิจ Tianwen 1 ในการส่งหุ่นยนต์ตระเวนสำรวจในรูปแบบรถแลนด์โรเวอร์ Zhurong ลงจอดบนดาวอังคารได้เป็นที่เรียบร้อย ส่งผลให้ประเทศจีน กลายเป็นชาติที่ 2 ของโลก ที่สามารถลงไปวำรวจดาวอังคารได้เป็นผลสำเร็จ ทีมนักวิจัยยืนยันการลงจอดจากสัญญาณที่ส่งกลับมาโดย Zhurong
เกี่ยวกับภารกิจ Tianwen 1 และหุ่นยนต์ตระเวนสำรวจ Zhurong
Tianwen 1 เป็นยานอวกาศของประเทศจีน ซึ่งถูกนำมาใช้สำหรับภารกิจสำรวจดาวอังคารครั้งที่ 46 ของโลก (มีเพียง 19 ภารกิจเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ) ที่ได้มีการปล่อยตัวยานขึ้นจากโลกด้วยจรวด Long March 5 เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2020 จาก Wenchang Space Launch Center ใน Hainan และพึ่งเดินทางไปถึงดาวอังคารเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดย Tianwen 1 ใช้เวลา 224 วัน ในการบินไปยังดาวอังคารเป็นระยะทาง 475 ล้านกิโลเมตร เข้าสู่วงโคจรดาวอังคาร เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ บินอยู่ในวงโคจรเป็นเวลาประมาณ 3 เดือน ก่อนจะปล่อยแคปซูลลงจอด ที่ห่อหุ้มตัวหุ่นยนต์ Zhurong ร่มชูชีพ และส่วนฐานที่ติดตั้งจรวดขับดันเอาไว้ ลงบนพื้นผิวของดาวอังคาร
Zhurong ลงจอดบริเวณ Utopia Planitia ทางตอนใต้ของดาวอังคาร ซึ่งเป็นที่ราบขนาดใหญ่ และจะเริ่มภารกิจสำรวจพื้นผิวของดาวอังคารด้วยรถสำรวจในเวลาต่อมา โดยจะทำการวิจัยเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม อากาศของตัวดาวเคราะห์ ภูมิประเทศ พื้นผิว และโครงสร้างของดิน ซึ่งการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับอุตุนิยมวิทยาจะรวบรวมข้อมูลบรรยากาศเกี่ยวกับอุณหภูมิ ความดัน ความเร็วลม ทิศทาง ตลอดจนสนามแม่เหล็กและสนามแรงโน้มถ่วงบนโลก
Zhurong มีรูปทรงเป็นรถแลนด์โรเวอร์ 6 ล้อ มีน้ำหนักประมาณ 240 กิโลกรัม ติดแผงโซลาร์เซลล์ 4 แผง สามารถเคลื่อนที่บนดาวอังคารได้ 200 เมตรต่อชั่วโมง มีเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ 5 อย่าง ได้แก่ กล้อง multispectral, เรดาร์สำหรับสำรวจพื้นผิว, และเครื่องมือตรวจวัดทางอุตุนิยมวิทยา (เท่าที่ประกาศ) คาดว่า Zhurong สามารถทำการสำรวจบนดาวอังคารได้นานประมาณ 3 เดือน โดย Zhurong ยังถือเป็นรถแลนด์โรเวอร์คันที่ 6 ของมนุษยชาติ ที่จะติดตั้งบนดาวอังคาร (5 คันก่อนเป็นของสหรัฐอเมริกา) มีระบบป้องกันฝุ่นดาวอังคารแบบใหม่ สามารถสลัดออกได้ด้วยการสั่นสะเทือน
Zhurong เป็นชื่อที่มาจากเทพเจ้าแห่งไฟตามตำนานจีน จู้หรง หรือบ้างก็เรียก จู้หยอง
แหล่งที่มา cnsa.gov.cn, bbc.com