รีเซต

NASA เล็งใช้หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ สำรวจดวงจันทร์และดาวอังคารแทนมนุษย์

NASA เล็งใช้หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ สำรวจดวงจันทร์และดาวอังคารแทนมนุษย์
TNN ช่อง16
19 กันยายน 2566 ( 22:09 )
96

องค์การนาซา (NASA) ร่วมมือกับบริษัทหุ่นยนต์ในเท็กซัสอย่างแอปโทรนิก (Apptronik) เพื่อพัฒนาหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์หรือหุ่นยนต์รูปทรงเหมือนมนุษย์ ที่ในอนาคตมีการคาดการณ์ว่า มันอาจถูกส่งไปดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ เพื่อทำหน้าที่สำรวจแทนนักบินอวกาศ


หุ่นยนต์ตัวดังกล่าวชื่ออะพอลโล (Apollo) แรกเริ่มมันถูกพัฒนาเพื่อรองรับงานภาคพื้นดินอย่างอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ การผลิตสินค้า และสามารถช่วยเหลือด้านสุขภาพที่บ้าน แต่นาซาเองก็สนใจที่จะปรับใช้อะพอลโล (และหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์รุ่นอื่น ๆ ) เพื่อให้เป็นผู้ช่วยนักบินอวกาศที่อาศัยอยู่ในวงโคจรนอกโลก หรือแม้กระทั่งให้ช่วยสำรวจดาวเคราะห์อย่างดวงจันทร์และดาวอังคาร รวมถึงในอนาคตเมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้ามากพอมันก็อาจเป็นร่างอวตารให้มนุษย์ควบคุมการทำงานผ่านทางไกลได้


แอปโทรนิกให้ความสำคัญกับการออกแบบอะพอลโลอย่างมาก โดยตัวหุ่นยนต์สูง 173 เซนติเมตร หนัก 73 กิโลกรัม สามารถยกน้ำหนักได้ 25 กิโลกรัม ใช้งานได้ประมาณ 4 ชั่วโมงต่อการชาร์จแบต 1 ครั้ง ซึ่งก็ถือว่าตอบโจทย์อย่างมากต่อการทำงานภาคพื้นดิน แต่ทั้งนี้นาซาเองก็มองว่าอะพอลโลสามารถที่พัฒนากว่านี้ได้ ดังนั้นจึงได้นำเอาเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ที่สั่งสมมาอย่างยาวนานมาช่วยแอปโทรนิกพัฒนาอะพอลโลเพิ่มเติม เช่น หลักการเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์ หลักการออกแบบซอฟต์แวร์เพื่อการมีปฏิสัมพันธ์อย่างปลอดภัยระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์ เป็นต้น


อะพอลโลสามารถตั้งโปรแกรมการทำงานที่หลากหลาย และสามารถปรับเปลี่ยนรูปร่างทางกายภาพอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ ดังนั้นในอนาคต เราอาจเห็นนาซาปรับแต่งหุ่นยนต์เป็นรูปร่าง ๆ ที่นอกเหนือจากรูปร่างมนุษย์ได้ 


การนำหุ่นยนต์ไปช่วยสำรวจบนดาวเคราะห์ดวงอื่นมีประโยชน์อย่างมากในแง่การลดอันตรายต่อนักบินอวกาศที่เป็นมนุษย์ ทั้งยังสามารถเพิ่มขีดความสามารถอื่น ๆ ได้ อย่างเช่นการสำรวจในแง่ของการสร้างที่อยู่อาศัย การขุดตัวอย่างหิน หรือการทำเหมือง ดังนั้นการนำหุ่นยนต์เข้าไปเป็นหนึ่งในโครงการพามนุษย์ไปยังดวงจันทร์ของนาซา อย่างโปรเจกต์อาร์ทิมิส (Artemis) มันก็อาจเป็นตัวช่วยสำคัญ ที่ทำให้มนุษย์สร้างที่อยู่อาศัยอย่างยั่งยืนได้บนดวงจันทร์หรือแม้กระทั่งดาวอังคารได้



ที่มาข้อมูล Space

ที่มารูปภาพ Apptronik

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง