รีเซต

โบลิเวียเผชิญคลื่นความร้อนรุนแรงค่า UV พุ่งเกินค่า ปชช.ห้ามโดนแดด

โบลิเวียเผชิญคลื่นความร้อนรุนแรงค่า UV พุ่งเกินค่า ปชช.ห้ามโดนแดด
TNN ช่อง16
5 พฤศจิกายน 2564 ( 11:53 )
115

วันนี้ ( 5 พ.ย. 64 )คลื่นความร้อนเล่นงานโบลิเวียหนักที่สุด โดยเฉพาะในกรุงลาปาซ เมืองหลวงทางการปกครองของโบลิเวีย วัดระดับรังสีอัลตราไวโอเล็ต หรือรังสี UV ได้สูงสุด เกินกว่าระดับที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO กำหนดไว้ โดยวัดค่ารังสี UV ได้ถึงระดับ 21 ในขณะที่ค่าของรังสี UV โดยปกติแล้ว สามารถวัดได้ถึงระดับ 20 เท่านั้น ส่งผลกระทบต่อชาวเมืองลาปาซราว 1.6 ล้านคน ต้องอยู่แต่ในที่ร่มเท่านั้น และห้ามถูกแสงแดดโดยตรง

ตามเกณฑ์รังสี UV ของ WHO ระบุว่า เพียงแค่ระดับที่ 11 จากทั้งหมด 20 ระดับ ก็จัดว่าเป็นระดับ “สูงมาก” แล้ว และเป็นระดับรังสี UV ที่ประชาชนจะต้องหลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดโดยตรง เพื่อป้องกันอันตรายจากการได้รับรังสี UV

ทั้งนี้ โบลิเวียมีเมืองที่จัดว่าเป็นเมืองหลวง 2 เมือง คือกรุงลาปาซ เป็นเมืองหลวงทางการปกครอง เป็นที่ตั้งหน่วยงานสำคัญของรัฐบาลโบลิเวีย ส่วนกรุงซูเกร เป็นเมืองหลวงตามรัฐธรรมนูญของโบลิเวีย 

กรุงลาปาซตั้งอยู่ในเทือกเขาแอนดีส เป็นเมืองหลวงที่สูงที่สุดในโลก สูงจากระดับน้ำทะเล 3,640 เมตร ทำให้ลาปาซ เป็นหนึ่งในเมืองที่มีความเสี่ยงมากที่สุดโลก ที่ประชาชนจะได้รับรังสี UV ที่เข้มข้นระดับสูง โดยสถิติสูงสุดที่โบลิเวียเคยทำไว้มาหลายครั้งแล้วคือ วัดค่ารังสี UV ได้สูงสุดถึงระดับ 40 อย่างไรก็ตาม ตามปกติแล้วจะอยู่ที่ประมาณระดับ 11 ถึง 17

ด้านนักวิเคราะห์ความเสี่ยงที่ทำงานให้แก่รัฐบาลท้องถิ่นกรุงลาปาซ ระบุว่า รังสี UV สูงขนาดนี้ เท่ากับกรุงลาปาซ “กำลังถูกต้มจนเดือด” ส่วนนักวิจัยระบุว่า ฤดูฝนที่ผิดปกติไปในโบลิเวีย เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้ระดับรังสี UV ในโบลิเวียพุ่งสูงขึ้น และสาเหตุที่ทำให้ฤดูฝนของโบลิเวียเปลี่ยนแปลงไป ก็น่าจะมาจากปัญหาสภาพอากาศโลกเปลี่ยนแปลง 

ข้อมูลจากรายงานล่าสุดของคณะกรรมการภูมิอากาศของสหประชาชาติ หรือ UN ระบุว่า ปัญหาสภาพอากาศโลกเปลี่ยนแปลง ส่งผลกระทบให้ภัยธรรมชาติด้านสภาพอากาศรุนแรงมากขึ้น รวมถึงการเกิดคลื่นความร้อนและภัยแล้งที่หนักหน่วงมากยิ่งขึ้นด้วย

คลื่นความร้อนเล่นงานโบลิเวียครั้งนี้ ซ้ำเติมพายุลูกเห็บ พายุหิมะและพายุฝนเพิ่งถล่มโบลิเวียพร้อมกันในวันเดียว เมื่อวันอาทิตย์ (31 ตุลาคม) ที่ผ่านมา ทำให้เกิดน้ำท่วมและเก็บกวาดลูกเห็บได้จำนวนมหาศาลถึง 5,000 ตัน.

ภาพจาก :  รอยเตอร์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง