รีเซต

เอ็มไอที แซนด์บ็อกซ์ ปฏิวัติจัดซื้อจัดจ้างรัฐ

เอ็มไอที แซนด์บ็อกซ์ ปฏิวัติจัดซื้อจัดจ้างรัฐ
มติชน
7 กันยายน 2564 ( 06:55 )
28

ประเด็นการสนับสนุนให้ภาครัฐใช้สินค้าไทย (เมดอินไทยแลนด์) หรือเอ็มไอที นั้น นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มีนโยบายตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่ง โดยช่วงแรกได้ผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมไทยใช้ของในประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโครงการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์รถไฟ สนามบิน

 

 

ขณะที่ผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมเหล็กก็มีการเคลื่อนไหว จากนั้นไม่นานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกมาตรการให้ใช้เหล็กในประเทศ และมีมาตรการห้ามตั้ง ห้ามขยาย เพื่อให้อุตสาหกรรมเหล็กเดินต่อไปได้

 

 

ขณะเดียวกันสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ภายใต้การนำของ นาย สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. ได้ผลักดันเอ็มไอทีเช่นกัน โดยต้องการให้สินค้าไทยเป็นตัวเลือกหลักในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างของ ภาครัฐ ที่ปีงบประมาณ 2563 ประมาณวงเงินรวมอยู่ที่ 1.77 ล้านล้านบาท โดยทำงานร่วมกับกรมบัญชีกลาง

 

 

อีกหน่วยงาน คือ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ดำเนินการ เรื่อง เอสเอ็มอี-จีพี คือ การจัดซื้อจัดจ้างของ รัฐต้องซื้อสินค้าจากเอสเอ็มอีกำหนดสัดส่วน 30% และหากเป็นอี-บิดดิ้งจะได้แต้มต่อเสนอราคาสูงกว่ารายใหญ่ 10% รวมทั้งกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ที่กำหนดให้สินค้าที่ใช้ต้องใส่ใจสิ่งแวดล้อม จากการผลักดันร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน

 

 

กรมบัญชีกลางจึงออกกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2563 คือ การกำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่ผลิตในประเทศไม่น้อยกว่า 60% ของพัสดุที่จะใช้ และในส่วนของงานก่อสร้างกำหนดให้ใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศก่อน โดยต้องไม่น้อยกว่า 90% ของมูลค่า หรือปริมาณเหล็กหรือเหล็กกล้าที่ใช้ในงานก่อสร้างทั้งหมดในครั้งนั้น

โดยมี 3 ส่วนหลัก นั่นคือ เอ็มไอที เอสเอ็มอี-จีพี และประเด็นสิ่งแวดล้อม ซึ่งเอ็มไอทีใหญ่ที่สุดเพราะเป็นภาคบังคับ กำหนดสัดส่วนชัดเจน อาทิ สินค้าเหล็กต้องใช้ในประเทศ 90% เป็นผลจากการผลักดันของกระทรวงอุตสาหกรรม เกณฑ์เอ็มไอทีนี้หากหน่วยงานรัฐทำไม่ได้ ต้องรายงานไปที่สาเหตุ ความคืบหน้า เพื่อดำเนินการแก้ไข อีก 2 ส่วนคือเน้นรณรงค์

ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กสอ.) หรือ ดีพร้อม หนึ่งในคีย์แมนในการผลักดันเมด อินไทยแลนด์ฟากกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ข้อมูลว่า การผลักดันเอ็มไอที จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจไทย เพราะผลจากการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) แม้การส่งออกยังดีอยู่ แต่การบริโภคในประเทศลดลงจากภาคการท่องเที่ยวที่หายไปเกือบ 100% ทำให้การลงทุนจากภาคเอกชนลดลงด้วย จึงเหลือการใช้จ่ายของ ภาครัฐที่จะเป็นอีกตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หากไม่มีกลไกเอ็มไอที เงินที่ซื้อต่างประเทศคือจบเลย แต่ถ้าซื้อสินค้าผลิตในประเทศจะช่วยภาคการผลิตที่เกี่ยวข้อง เอสเอ็มอีได้รับโอกาส ช่วยการจ้างงาน เกิดการซื้อวัตถุดิบต่อเนื่อง รัฐเก็บภาษีได้มากขึ้น เงินก็หมุนในประเทศหลายรอบ

แม้ราคาอาจสูงกว่านำเข้าบางประเทศ อาทิ จีน ซึ่งถูกที่สุด แต่เอ็มไอทีจะช่วยเศรษฐกิจในประเทศ สำหรับบทบาทของ ดีพร้อม มี 2 ด้าน คือ 1.การได้ผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปสู้แพลตฟอร์มของ ส.อ.ท.ที่เปิดรายชื่อสินค้าที่เข้าเกณฑ์เมดอินไทยแลนด์ ซึ่งการพิสูจน์ทราบว่าเป็นเมดอินไทยแลนด์ไม่ใช่แค่โรงงานตั้งอยู่ในประเทศ แต่ต้องมีสินค้าที่ผลิตในประเทศ มีแหล่งกำเนิดสินค้าในประเทศดีพร้อมจะแนะนำ พัฒนา จนผู้ประกอบการไทยเข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มได้

ล่าสุดมีผู้ประกอบการจากโครงการผ่านการรับรองเอ็มไอทีจาก ส.อ.ท.แล้ว 16 ราย จำนวนสินค้า 280 รายสินค้า มีแผนจะขอรับรองสินค้าเพิ่มกว่า 600 รายสินค้า คาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 200 ล้านบาทต่อปี ปัจจุบันมีฐานข้อมูลของ ส.อ.ท.มีผู้ประกอบการที่ผ่านการรับรองสินค้าเอ็มไอทีไปแล้ว 2,500 ราย คิดเป็นประมาณ 20,000 รายสินค้า

2.เป็นแซนด์บ็อกซ์ในการจัดซื้อจัดจ้างของ รัฐ เพราะภาครัฐไม่เคยทำมาก่อน ระเบียบที่ ออกมาเป็นเรื่องใหม่ ดีพร้อม จึงออกระเบียบและบันทึกภายในกำหนดวิธีจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งระเบียบใหม่เริ่มใช้ทางการเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา รวมทั้งเป็นหน่วยงานที่จัดซื้อจัดจ้างด้วยเอ็มไอทีเต็มรูปแบบ จากการทดลองพบว่า มีสินค้าบางรายการไม่อยู่ในแพลตฟอร์มเอ็มไอทีของ ส.อ.ท. หรือขั้นตอนค้นหารายการสินค้ายังไม่สมบูรณ์ ซึ่งอุปสรรคต่างๆ ดีพร้อม จะแจ้งไปยัง ส.อ.ท.ให้ดำเนินการแก้ไขเพื่อทำงานร่วมกัน

ปัจจุบันแซนด์บ็อกซ์จัดซื้อจัดจ้างของเอ็มไอทีถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควรแม้จะทุลักทุเลอยู่บ้างแต่ก็ผ่านไปได้ ด้วยระเบียบเดิมๆ ที่ทำกันมานานหลายปี จนเกิดความเคยชิน เพื่อเกิดระเบียบใหม่จึงต้องผลักดันกันพอสมควร ต้องพยายามจูงใจ ปัจจุบันเมื่อผมมีโอกาสไปพูดที่ไหนก็จะหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมากระตุ้นหน่วยงานรัฐทุกที่ให้ร่วมกันทำเอ็มไอทีให้สำเร็จ ซึ่งการจัดซื้อจัดจ้างจากระเบียบใหม่ด้วยความไม่ชินหลายคนจะรู้สึกว่ายุ่งยากขึ้น แต่เวลานี้ควรทำมากที่สุดแล้ว โดยเฉพาะช่วงที่ประเทศกำลังเจอปัญหาโควิด เพราะจะเป็นสิ่งสำคัญมากๆ ที่รัฐจะช่วยเหลือภาคธุรกิจในยามวิกฤตได้ เพราะผลจากโควิด คนเดือดร้อนนอกจากผู้ติดเชื้อ ผู้ประกอบการธุรกิจคืออีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ผมพยายามกระตุ้นเจ้าหน้าที่ของกรม เราไม่ใช่หมอ พยาบาล ไม่ต้องไปลำบาก เสี่ยงติดเชื้อ แต่เราช่วยผู้ประกอบการ เศรษฐกิจให้เดินได้ด้วยเอ็มไอที นอกจากนี้ เพื่อสนับสนุนสินค้าไทย

ดร. ณัฐพล ระบุว่า ปัจจุบันดีพร้อมได้จัดทำไทยแลนด์ เท็กซ์ไทล์ แท็ก หรือการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอเข้าสู่มาตรฐานอุตสาหกรรม ในหมวดสินค้าสิ่งทอ เส้นด้าย เครื่องนุ่งห่ม เกินกว่าเอ็มไอทีไปหนึ่งขั้น เพราะนอกจากระบุถึงแหล่งผลิตแล้วยังระบุถึงคุณภาพสินค้าด้วยรูปแบบคล้ายกับการทำอีโค-สติ๊กเกอร์ในอุตสาหกรรม ซึ่งดูได้ในเรื่องของรถยนต์ ยางรถยนต์ ว่าผลิตในประเทศ หรือนำเข้า ซึ่งแนวทางนี้จะทำให้มีการรายงานผลเข้ามาที่กระทรวงอุตสาหกรรม มี ร.ง.8 (แบบสำรวจข้อมูลการผลิต) ร.ง.9 (แบบแจ้งข้อมูลการประกอบกิจการโรงงานรายปี) เพื่อเป็นการยืนยันว่าสินค้าดังกล่าวเป็นเมดอินไทยแลนด์ 100% อย่างไรก็ตาม

ดร.ณัฐพล ยอมรับว่า สิ่งที่กลัวที่สุดคือหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐไม่ช่วยผลักดัน เพราะในส่วนของดีพร้อม มีงบดำเนินการเพียง 50 ล้านบาท แต่มีหน่วยงานอีกจำนวนมากที่มีงบประมาณซื้อได้ ทั้งหน่วยงานกระทรวงมหาดไทย ทางทหาร โรงเรียน ระบบสาธารณสุข ยกตัวอย่างซื้อเสื้อยืดคอกลมให้ทหารเกณฑ์ ถ้าเป็นสินค้าที่ผลิตในไทย ใช้ผ้า เส้นด้าย จากไทยแลนด์ เท็กซ์ไทล์ แท็ก อาจจะได้ถ้าหน่วยงานนั้นๆ ยอมทำ อาทิ งบสร้างถนนหลักหมื่นล้าน โครงการรถไฟ โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เชื่อว่าถ้าทุกงานร่วมมือกันจริงจังจะทำให้มูลค่าจากสินค้าเอ็มไอทีเกิน 1 ล้านล้านบาทต่อปี แน่นอน

และในปีงบประมาณ 2565 ต้องดูว่าแต่ละหน่วยงานจะร่วมมือแค่ไหน หลังจากเริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2564 ล่าสุด กรมบัญชีกลางมีการปรับระเบียบที่รัดกุมขึ้นมีผลเมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งดีพร้อมจะทำเกณฑ์ให้สอดรับต่อไป สำหรับการกระตุ้นหน่วยงานรัฐทำเมดอินไทยแลนด์นั้น ต้องให้เจ้าของระเบียบ คือ กรมบัญชีกลางเป็นผู้กระตุ้นขั้นแรก

ขณะที่ ดีพร้อม จะช่วยประกอบการและกระตุ้นหน่วยงานรัฐอีกทาง ซึ่งประเด็นเมดอินไทยแลนด์ถูกหยิบยกขึ้นมาหลายปีแล้วแต่ไม่ได้บังคับ ประกอบกับที่ผ่านมากังวลว่าจะขัดกับดับเบิลยูทีโอ แต่ก็พิสูจน์แล้วว่าไม่มีผลต่อประเทศไทย ขณะที่ผู้รับเหมาบางราย ระบุว่า ซื้อต่างประเทศถูกกว่า ก็มีคำถามกลับไปว่างั้นรัฐจ้างผู้รับเหมาต่างประเทศได้หรือไม่ เรื่องนี้หากดำเนินการมาถึงขั้นนี้แล้ว กรมบัญชีกลางที่ออกประกาศไม่แข็งแรง ยกเลิก ก็ไม่คิดว่าหลังจากนี้จะทำได้อีก เพราะจะมีข้ออ้างที่แข็งแรงกว่า คือลองแล้วแต่ทำไม่ได้ สิ่งนี้น่ากลัว คงต้องเลิกหวังไปเลย อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมทิ้งท้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง