รีเซต

ผุดท่าเรือสำราญสมุย 'แฟลกชิป' ใหม่ดูดนักเที่ยว

ผุดท่าเรือสำราญสมุย 'แฟลกชิป' ใหม่ดูดนักเที่ยว
มติชน
23 มีนาคม 2565 ( 06:33 )
80
ผุดท่าเรือสำราญสมุย 'แฟลกชิป' ใหม่ดูดนักเที่ยว

เมื่อภาคการท่องเที่ยวของไทยยังเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี จึงเป็นหนึ่งในนโยบายด้านการท่องเที่ยวของรัฐบาล

 

ล่าสุด กระทรวงคมนาคมในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ได้สั่งการให้กรมเจ้าท่าดำเนินการคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อศึกษาแผนแม่บท รองรับการท่องเที่ยวฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ในการพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ บริเวณเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และตามแผนแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยมีความเกี่ยวข้องในด้านการท่องเที่ยวเรือสำราญทางน้ำที่ส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสำราญทางทางทะเลและชายฝั่ง

 

เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เป็นอีกจุดหมายปลายทางที่มีความสำคัญซึ่งเรือสำราญที่เข้าไทยมักเลือกเป็นจุดแวะพักของเรือสำราญ เนื่องจากมีชายหาดที่สวยงามและแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย แต่ในปัจจุบันเรือสำราญยังไม่สามารถเข้าเทียบท่าได้โดยตรง จะต้องอาศัยเรือขนาดเล็กในการรองรับนักท่องเที่ยวจากเรือสำราญขึ้นมาท่องเที่ยวและใช้จ่ายบนเกาะสมุย ซึ่งอาจทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยและไม่สะดวกกับนักท่องเที่ยว

 

กระทรวงคมนาคมโดยกรมเจ้าท่า จึงได้เร่งรัดผลักดันโครงการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่ ที่ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นการต่อยอดจากการศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบท่าเทียบเรือสำราญ ซึ่งกรมเจ้าท่าได้ดำเนินการแล้วเสร็จ และคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมจะดำเนินการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำราญ ณ บริเวณแหลมหินคม ต.ตลิ่งงาม อ.เกาะสมุย เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและสังคม

 

ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเติบโตของจำนวนครั้งที่เรือสำราญเข้าเทียบท่าสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในระหว่างปี 2557-2562 ไทยมีอัตราการเติบโตของจำนวนครั้งที่เรือสำราญเข้าเทียบท่าสูงถึง 87.7% โดยในปี 2562 ประเทศไทยมีเรือสำราญที่เข้าเทียบท่าจำนวน 550 ครั้ง โดยเกาะสมุยมีเรือสำราญที่เข้าเทียบท่าจำนวน 59 ครั้ง สูงที่สุดเป็นอันดับ 3 รองจากท่าเรือภูเก็ตและท่าเรือแหลมฉบังเท่านั้น โดยระหว่างปี 2553-2562 จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางโดยเรือสำราญเพิ่มขึ้นในอัตรา 5.3% ต่อปี

 

กรมเจ้าท่าจึงมีนโยบายให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการในรูปแบบภาครัฐกับเอกชน (PPP Net Cost) ภายใต้งบประมาณในการลงทุน 12,146 ล้านบาท โดยรัฐจะลงทุนในส่วนของค่าเวนคืนที่ดิน ค่างานก่อสร้างโยธาและค่างานระบบภายในอาคารทั้งหมด และให้เอกชนลงทุนในส่วนของอุปกรณ์ประกอบการดำเนินงาน ดำเนินงานและบำรุงรักษาท่าเรือ รวมถึงให้เอกชนมีสิทธิในรายได้ของโครงการทั้งหมดเป็นระยะเวลา 30 ปี ทั้งนี้ หากรายได้ของโครงการต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนที่เอกชนคาดหวัง เอกชนอาจได้รับการชดเชยผลตอบแทนจากภาครัฐในรูปแบบของเงินสนับสนุนหรือเงินร่วมลงทุน และหากรายได้ของโครงการสูงกว่าอัตราผลตอบแทนที่เอกชนคาดหวัง เอกชนอาจต้องแบ่งผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ภาครัฐ ในรูปแบบของส่วนแบ่งรายได้หรือค่าสัมปทาน

 

สำหรับความสามารถในการรองรับของท่าเรือสำราญ จะสามารถรองรับเรือสำราญได้พร้อมกัน 2 ลำ ได้แก่ เรือสำราญขนาดใหญ่ 4,000 คน เรือสำราญขนาดกลาง 2,500 คน และรองรับเรือยอชต์สูงสุด 80 ลำ เรือเฟอร์รี่สูงสุด 6 ลำ ซึ่งท่าเรือมีขนาดความยาวหน้าท่า 362 เมตร ความลึกร่องน้ำ 12 เมตร อาคารผู้โดยสารบรรจุ 3,600 คน ซึ่งโครงการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ จะเป็นการส่งเสริมศักยภาพการท่องเที่ยวของประเทศและสนับสนุนธุรกิจการท่องเที่ยวให้กระจายเม็ดเงินไปสู่ผู้คนในท้องถิ่น ตลอดจนผลักดันให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางใหม่ของการท่องเที่ยวทางน้ำในอนาคตอย่างยั่งยืน

 

อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวยังอยู่ระหว่างศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อประเมินความสนใจของนักลงทุนภาคเอกชน (มาร์เก็ตซาวดิ้ง) แต่เชื่อมั่นว่ามีเอกชนสนใจร่วมลงทุนแน่นอน เนื่องจากเกาะสมุยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม และเรือสำราญเข้าเทียบท่าสูงเป็นอันดับ 4 ของเอเชีย รองจากประเทศญี่ปุ่น จีน และมาเลเซีย

 

“วรรณชัย บุตรทองดี” ผู้อำนวยการกองวิศวกรรม กรมเจ้าท่า กล่าวว่า กรมเจ้าท่าได้ศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) คัดเลือกพื้นที่ดำเนินการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำราญ ณ บริเวณแหลมหินคม ต.ตลิ่งงาม อ.เกาะสมุย เนื่องจากมีความพร้อมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและสังคม และได้เร่งรัดผลักดันโครงการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) ในโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือ โดยว่าจ้างที่ปรึกษาระยะเวลา 18 เดือน วงเงิน 18 ล้านบาท คาดแล้วเสร็จในเดือน มิ.ย.2565 และนำเสนอคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ดำเนินการตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในปี 2566 คาดว่าจะประกาศ RFP เปิดประมูลคัดเลือกผู้ร่วมลงทุนได้ในปี 2567 เริ่มก่อสร้างปี 2568 ระยะเวลาสร้าง 3 ปี เปิดบริการปี 2571 ในขณะเดียวกัน กรมเจ้าท่าจะทำการศึกษาจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ในปี 2565-2567 คู่ขนานไปด้วย

 

ขณะที่ “รัชชพร พูลสวัสดิ์” นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย มองว่า การสร้างท่าเทียบเรือสำราญจะทำให้มีเรือสำราญเข้ามาเทียบที่เกาะสมุยได้ มีแนวโน้มอยู่ที่ปีละประมาณ 10 ลำ และใน 1 ลำจะมีนักท่องเที่ยวประมาณ 3,000 คน จะทำให้เกาะสมุยมีตัวเลขจากการท่องเที่ยวมากขึ้นและมียอดการจับจ่ายใช้สอยกระจายไปค่อนข้างเยอะ เป็นหนึ่งเรื่องดีที่จะเกิดขึ้นกับการท่องเที่ยวของเกาะสมุย อยากให้ทางภาครัฐได้ส่งเสริมให้มีการก่อสร้างเกิดขึ้นจริง โดยชาวสมุยเห็นด้วยจากการทำประชาพิจารณ์แล้วและพร้อมสนับสนุนพื้นที่บริเวณแหลมหินคม รวมไปถึงภาคเอกชนก็พร้อมจะลงทุนในพื้นที่ตรงนั้น เช่น เดียวกับทุกสมาคมที่เกี่ยวข้องกับโรงแรม และธุรกิจท่องเที่ยวเกาะสมุย มีความเห็นด้วยกับการก่อสร้างท่าเรือสำราญ เนื่องจากเป็นการพัฒนาครั้งสำคัญของเกาะสมุย จะทำให้เกาะสมุยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญระดับโลกที่มีช่องทางสำคัญอย่างเรือสำราญเข้ามาได้

 

“อยากผลักดันการก่อสร้างท่าเรือแหลมไม้แก่น ต.บ่อผุด อ.เกาะสมุย ที่จะเป็นท่าเรือยอชต์หรือมารีน่าด้วย เพราะมีการปรับให้เดินทางเข้าโดยเรือยอชต์ได้แล้ว จะทำให้มีนักท่องเที่ยวจากกลุ่มเรือยอชต์เดินทางมาจากประเทศต่างๆ มาเที่ยวเกาะสมุยเยอะขึ้น และนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีกำลังซื้อกำลังจับจ่ายใช้สอยด้วย” รัชชพรกล่าวทิ้งท้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง