รีเซต

ไฮสปีด 'จีน-ลาว' เชื่อม 'ค้า-ท่องเที่ยว' ไทยพร้อมไหม

ไฮสปีด 'จีน-ลาว' เชื่อม 'ค้า-ท่องเที่ยว' ไทยพร้อมไหม
มติชน
24 พฤศจิกายน 2564 ( 06:39 )
56
ไฮสปีด 'จีน-ลาว' เชื่อม 'ค้า-ท่องเที่ยว' ไทยพร้อมไหม

ไฮสปีด จีน-ลาว จะเริ่มเปิดวิ่งอย่างเป็นทางการในวันชาติลาว 2 ธันวาคมนี้ ซึ่งในอนาคตจะเป็นเส้นทางเชื่อมโยงกับรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน

 

ไฮสปีดจีน-ลาว มีระยะทางประมาณ 420 กม. มีสถานีทั้งหมด 31 สถานี เริ่มต้นที่นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน ประเทศจีน เชื่อมต่อที่เมืองบ่อเต็น สปป.ลาว มีปลายทางที่นครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งอยู่ใกล้กับจังหวัดหนองคาย

 

ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน อยู่ระหว่างก่อสร้าง ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. กำหนดเปิดให้บริการปี 2569 สำหรับระยะที่ 2 นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กม. ปัจจุบันได้ออกแบบรายละเอียด โดยมีกำหนดเปิดให้บริการปี 2571 พร้อมหารือร่วมกัน 3 ฝ่าย (ไทย-ลาว-จีน) เพื่อเตรียมการเดินรถเชื่อมต่อไทย-ลาว-จีนต่อไป

 

แต่เบื้องต้น ไทยจะใช้รถไฟธรรมดาเชื่อมโยงไปก่อน โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จัดขบวนรถรองรับการเดินทางช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ สปป.ลาว และรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าทางรางที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นที่สถานีท่านาแล้งของ สปป.ลาว นำไปสู่การเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างประเทศ

 

ขณะที่ปัจจุบันมีรถไฟไทยวิ่งผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 ขาไป 2 ขบวน และขากลับ 2 ขบวน ก็จะเพิ่มการเดินรถ รถขาไป 7 ขบวน และขากลับ 7 ขบวน รวมเป็น 14 ขบวน

 

นอกจากนี้ ยังพัฒนาสถานีหนองคายรองรับการขนส่งผ่านสะพานเดิม ซึ่งบริเวณสถานีที่มีพื้นที่ประมาณ 80 ไร่ ให้เป็นพื้นที่ตรวจปล่อยสินค้าระหว่างประเทศ และการเปลี่ยนถ่ายจากถนนสู่ราง โดยให้เอกชนเช่าบริหารจัดการพื้นที่ 4 แปลง อีก 1 แปลง เป็นพื้นที่ส่วนกลาง พร้อมจัดเตรียมพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับศูนย์ย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้า สามารถรองรับการแลกเปลี่ยนสินค้าจากรถไฟที่เข้ามาจากจีนและลาว และส่งออกไปยังลาวและจีนได้ ซึ่งจะให้ผู้ใช้บริการในแบบวันสต็อปเซอร์วิส

 

เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้แทนกระทรวงคมนาคมหารือถึงแนวทางการเชื่อมโยงรถไฟระหว่างไทย-ลาว-จีน ร่วมกับผู้แทน สปป.ลาว และผู้แทนจากจีน โดยมีรายงานความคืบหน้าการดำเนินการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย-ลาว-จีน และหารือรูปแบบความร่วมมือและแหล่งเงินทุนในการก่อสร้างสะพานรถไฟแห่งใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเชื่อมต่อรถไฟหนองคาย-เวียงจันทน์ จะตั้งอยู่ทางทิศใต้ของสะพานมิตรภาพไทย-ลาว (หนองคาย-เวียงจันทน์) ในปัจจุบัน ห่างจากสะพานเดิมประมาณ 30 เมตร โดยสะพานแห่งใหม่จะมีทางรถไฟทั้งขนาดทางมาตรฐานและขนาดทาง 1 เมตร ส่วนแนวทางการศึกษาความเหมาะสม การออกแบบรายละเอียด ยังไม่ได้ข้อยุติ

อย่างไรก็ดี ที่ประชุมเห็นชอบร่วมกันในการจัดตั้งคณะทำงานร่วมไตรภาคีระหว่างไทย-ลาว-จีน จำนวน 2 คณะ คือ คณะทำงานด้านธุรกิจ และคณะทำงานด้านเทคนิค โดยฝ่ายไทยมอบให้รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง และรองผู้ว่าการ รฟท. เข้าร่วมคณะทำงานด้านเทคนิค และให้วิศวกรใหญ่ฝ่ายก่อสร้างของการรถไฟฯ เข้าร่วมคณะทำงานด้านธุรกิจ

ทั้งนี้ กำหนดการประชุมไตรภาคีเพื่อหารือแนวทางการเชื่อมโยงรถไฟระหว่างไทย-ลาว-จีน ครั้งต่อไปในเดือนมกราคม 2565 ดังนั้น คงต้องติดตามผลกันอีกครั้งว่า ความร่วมมือของ 3 ประเทศ ในครั้งนี้จะเกิดผลและนำไปสู่ความสำเร็จได้อย่างไรต่อไป

ทั้งนี้ เส้นทางรถไฟจีน-ลาว ที่มีปลายทางใกล้กับจังหวัดหนองคายของไทยนั้น จะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยสามารถส่งสินค้าไปลาวและจีนได้เพิ่มขึ้น ทั้งสินค้าอุปโภค บริโภค และสินค้าทางการเกษตร โดยเฉพาะผลไม้ที่มีอายุการเก็บรักษาสั้น เมื่อเปิดบริการเส้นทางรถไฟลาว-จีน จึงเป็นผลดีต่อสินค้าเกษตรไทยให้กระจายไปยังมณฑลต่างๆ ของจีนได้อย่างทั่วถึงในระยะเวลาอันสั้น

 

นอกจากนี้ ยังส่งผลดีต่อการท่องเที่ยว คาดว่านักท่องเที่ยวจีนและลาว จะมาเที่ยวไทยได้สะดวกขึ้น

มนนิภา โกวิทศิริกุลŽ ประธานหอการค้าจังหวัดหนองคาย มั่นใจว่ารถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว จะทำให้การท่องขยายตัวเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากจีนมีประชากรจำนวนมาก แค่เดินทางมาท่องเที่ยวเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด ก็ถือว่ามีจำนวนมหาศาลแล้ว

 

แต่มีความเป็นห่วงเรื่องสินค้าจากจีนจะทะลักเข้าไทย อาจส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการของไทย เนื่องจากสินค้าจากจีนมีราคาถูก จากข้อมูลที่ทราบมา ช่วงแรกจะเป็นการขนส่งสินค้ามาจากจีนก่อน ส่วนคนนั้นจะต้องรอให้สถานการณ์โควิดคลี่คลายก่อน ดังนั้น ต้องดูก่อนว่าสินค้าที่จะส่งมาจากจีนเป็นสินค้าประเภทใด หากเป็นสินค้าที่ผลิตในไทยได้ ทางรัฐบาลก็ต้องหามาตรการป้องกันไม่ให้สินค้าจากจีนมาตีตลาดสินค้าไทย

 

สิ่งที่หอการค้าจังหวัดหนองคายเสนอให้รัฐบาลสนับสนุนเพื่อเตรียมความพร้อมรับรถไฟความเร็วสูงที่ในอนาคตจะต้องเชื่อมต่อไทย เช่น ให้เปิดสถานกงสุลจีนที่หนองคาย, จัดตั้งศูนย์ธุรกิจดิจิทัลในหนองคาย, ตั้งสำนักงาน ททท.ประจำหนองคาย, จัดตั้งตำรวจท่องเที่ยว, ก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว อีกแห่งคู่ขนานกับสะพานมิตรภาพไทย-ลาวเดิม เพื่อแยกเส้นทางรถไฟออกจากเส้นทางรถยนต์ และขอให้เร่งงบประมาณก่อสร้างโครงการต่างๆ เพื่อรองรับเรื่องดังกล่าวได้ทันเวลาŽ ประธานหอการค้าจังหวัดหนองคายเสนอ

 

ด้าน สุกานดา พันธุ์เสือŽ นายกสมาคมส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดหนองคาย เห็นว่า ไฮสปีดจีน-ลาว จะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวของไทย คาดว่าจะมีคนจีนมาท่องเที่ยวในไทยทางรถไฟเพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่เป็นห่วงคือ ธุรกิจด้านการท่องเที่ยว ทั้งโรงแรม ร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึก รวมถึงร้านอาหาร บางรายไม่มีศักยภาพ อาจจะถูกกลุ่มนักธุรกิจชาวจีนเข้ามากว้านซื้อ หรือเป็นนอมินีบริษัทจากจีนไป หากเป็นแบบนี้เราก็จะไม่ได้อะไรจากรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวเลย

 

สิ่งที่ต้องการให้ดำเนินการในจังหวัดหนองคายโดยเร็ว คือต้องจัดตั้งสำนักงานทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวมัคคุเทศก์และผู้นำเที่ยว เพื่อควบคุม กำกับดูแล และตรวจสอบมาตรฐานการประกอบธุรกิจนำเที่ยวและมาตรฐานหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ให้เป็นไปตามกฎหมายที่กำหนด

 

อีกทั้งขอให้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวประจำจังหวัดหนองคาย เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว ให้ข้อมูลคำแนะนำด้านการท่องเที่ยว และรับเรื่องร้องเรียนจากนักท่องเที่ยว และประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาให้กับนักท่องเที่ยว

 

นอกจากนี้ สิ่งที่อยากให้หารือในระดับรัฐบาล คือการเปิดด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 จังหวัดหนองคาย ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวผ่านเข้า-ออก ได้ เพราะหนองคายห่างจากนครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ไม่ถึง 30 กิโลเมตร การเดินทางโดยใช้เส้นทางด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ถือเป็นเส้นทางที่สะดวกที่สุดและเหมาะสมที่สุดŽ สุกานดาเสนอแนะต่อภาครัฐ

ขณะที่ พ.ต.อ.ณรัชต์พล เลิศรัชตะปภัสร์Ž นายด่านศุลกากรหนองคาย ชี้แจงการเตรียมความพร้อมรับกับรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว ว่าเตรียมความพร้อมด้านกระบวนการและพิธีการศุลกากร โดยเฉพาะกำลังเจ้าหน้าที่ เพื่อรองรับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น, การขอรับการสนับสนุนรถ Mobile X-ray 1 คัน ที่ตรวจสอบสินค้าด้วย X-ray แบบเคลื่อนที่ได้ เพื่อตรวจสอบสินค้า ณ โรงพักสินค้าบริเวณสถานีรถไฟหนองคายในอนาคต

 

อีกทั้งเตรียมพื้นที่และปรับรูปแบบการจราจรภายในบริเวณด่าน เพื่อป้องกันอุบัติเหตุและเป็นการบริหารจัดการพื้นที่ภายในด่านฯ อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ในการตรวจสินค้า และเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ Multimodal Transport อีกด้วยŽ นายด่านศุลกากรหนองคายให้ข้อมูล

 

เป็นการเตรียมพร้อม พร้อมข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อเตรียมรับมือทั้งด้านบวกและลบของไทย จากไฮสปีดจีน-ลาว ที่จะเปิดบริการในเร็ววันนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง