รีเซต

ส่องดีเอ็นเอ-สเปรย์วัคซีน ปลอดภัยแค่ไหน?

ส่องดีเอ็นเอ-สเปรย์วัคซีน ปลอดภัยแค่ไหน?
มติชน
25 สิงหาคม 2564 ( 06:53 )
29
ส่องดีเอ็นเอ-สเปรย์วัคซีน ปลอดภัยแค่ไหน?

มนุษยชาติโชคดีไม่น้อย เพราะในขณะที่โควิด-19 อาละวาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วและน่าสะพรึงกลัว เทคโนโลยีในการพัฒนาและผลิตวัคซีนก็อยู่ในห้วงเวลาที่ก้าวรุดหน้าเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์เช่นเดียวกัน

 

 

นอกจากเราจะมีวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ อย่าง เอ็มอาร์เอ็นเอวัคซีน มาฉีดป้องกันโควิดกันได้เร็วมากๆ แล้ว เรายังพัฒนา วัคซีน ไวรัลเวกเตอร์ อย่าง แอสตร้าเซนเนก้า มาใช้กับมนุษย์เป็นครั้งแรกได้อีกด้วย

 

 

เมื่อเร็วๆ นี้ ทางการอินเดียก็เพิ่งอนุมัติให้ใช้วัคซีนประเภทใหม่เป็นกรณีฉุกเฉินเพื่อต่อต้านกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกตัว นั่นคือ วัคซีน ไซโควี-ดี ที่พัฒนาและผลิตโดย บริษัท ไซดัส คาดิลา ผู้ผลิตยาสามัญของอินเดีย (ใช้ชื่อในการจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ว่า คาดิลา เฮลธ์แคร์) ที่ได้ชื่อว่าเป็น ดีเอ็นเอวัคซีน ตัวแรกของโลกที่นำมาใช้กับมนุษย์

 

 

ขณะเดียวกัน ไทยและออสเตรเลีย ก็เริ่มต้นการทดลอง สเปรย์วัคซีน ระยะแรกในมนุษย์ขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน แม้จะไม่ถือเป็นวัคซีนที่พัฒนาด้วยเทคโนโลยีใหม่เอี่ยมเป็นครั้งแรกของโลก แต่ สเปรย์วัคซีน ก็กำลังเป็นที่ถกเถียงกันไม่น้อยในแวดวงวิชาการว่าน่าจะเป็นวิธีการที่ทำให้การป้องกันการติดและแพร่เชื้อโควิด-19 มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

 

 

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีใหม่และวิธีการใหม่ๆ มักก่อให้เกิดข้อกังขาขึ้นไม่น้อยทั้งในแง่ของประสิทธิภาพและความปลอดภัย การทำความเข้าใจและเรียนรู้ถึงข้อดีข้อเสีย จุดเด่นและจุดด้อยของวัคซีนใหม่ๆ เหล่านี้จึงเป็นสิ่งจำเป็น

 

 

วัคซีนดีเอ็นเอ ของ ไซดัส คาดิลา จริงๆ แล้วจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับวัคซีน เอ็มอาร์เอ็นเอ อย่างไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา คือเป็น เจเนติก หรือนิวเคลอิค แอซิด วัคซีน (genetic or nucleic acid vaccine) ที่ใช้ข้อมูลทางพันธุกรรมของไวรัสก่อโรคโควิด-19 เป็นตัวกระตุ้นให้ร่างกาย รู้จัก และ จดจำ เพื่อจะได้ผลิตสารภูมิคุ้มกัน ออกมาต่อต้านได้ถูกต้อง เมื่อเกิดการติดเชื้อขึ้นในอนาคต ขึ้นอยู่กับว่า วัคซีนไหนจะใช้สารพันธุกรรมใน อาร์เอ็นเอ หรือ ดีเอ็นเอ เป็นพื้นฐานเท่านั้น

 

 

อย่างไรก็ตามขั้นตอนของการสร้างวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอกับดีเอ็นเอ แตกต่างกันอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะในขณะที่วัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ ใช้วิธีการตัดแยกเอาส่วนที่เป็นข้อมูลกำหนดพันธุกรรมจำเพาะของไวรัส ซึ่งพบในสายพันธุกรรม (อาร์เอ็นเอ) ของไวรัส (คือส่วนที่สร้างโปรตีนหนาม) ฉีดให้กับคนเราโดยตรง ดีเอ็นเอ กลับนำเอา พิมพ์เขียว พันธุกรรมของไวรัสก่อโรคโควิด ที่ผ่านกระบวนการดัดแปลงทางพันธุวิศวกรรม (ให้เหลือเฉพาะส่วนที่สร้างหนามโปรตีน) แล้ว จากนั้นจึงนำไปใส่ให้กับ โมเลกุลดีเอ็นเอ ขนาดเล็ก (ส่วนใหญ่มักได้จากแบคทีเรีย) ที่เรียกว่า พลาสมิด (plasmids) แล้วจึงนำไปฉีดเข้าสู่ร่างกายคน

 

 

ข้อดีประการหนึ่งของขั้นตอนที่ซับซ้อนขึ้นนี้ ก็คือ ส่งผลให้ ดีเอ็นเอ วัคซีนสามารถเก็บไว้ในอุณหภูมิปกติทั่วไปได้ ไม่จำเป็นต้อง แช่แข็ง ตลอดเวลาเหมือนกับ อาร์เอ็นเอวัคซีน ไซดัส คาดิลา ระบุว่า ไซโควี-ดี วัคซีน สามารถอยู่ในอุณหภูมิห้องปกติได้ 3 เดือน แต่ถ้าจะเก็บให้นานกว่านั้นควรเก็บในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิราว 2-8 องศาเซลเซียส

 

 

จุดเด่นของดีเอ็นเอวัคซีนที่สำคัญไม่น้อย ก็คือ กระบวนการผลิตไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเหมือนเอ็มอาร์เอ็นเอ วัคซีน ทำให้ต้นทุนถูกกว่ามาก ในส่วนของความปลอดภัยนั้นก็น่าเชื่อถือได้ เพราะเทคโนโลยีนี้ไม่ได้ใหม่เสียทีเดียวนัก ในอดีตที่ผ่านมา องค์การอาหารและยา (เอฟดีเอ) ของสหรัฐ เคยอนุมัติให้ใช้วัคซีนนี้มาแล้ว แต่เป็นวัคซีนที่ใช้ในสัตว์ อาทิ วัคซีนป้องกันไวรัส เวสต์ไนล์ในม้า เป็นต้น

 

 

ข้อเท็จจริงที่ว่า ในเวลานี้มีวัคซีนดีเอ็นเอ มากถึง 160 ตัวอยู่ระหว่างการทดลองในคนระยะต่างๆ กันในสหรัฐอเมริกาและอีกหลายประเทศ แม้ว่าจะเป็นวัคซีนเพื่อป้องกันโรคอื่นๆ โดยส่วนใหญ่เป็นวัคซีนมะเร็ง, รองลงมาราว 1 ใน 3 เป็นวัคซีนป้องกันเอชไอวี/เอดส์ ในคน ก็เป็นหลักประกันความปลอดภัยได้ใน ระดับหนึ่ง

 

 

ไซดัส คาดิลา เปิดเผยว่า วัคซีนของตนมีประสิทธิภาพในการป้องกันผู้ติดเชื้อไม่ให้มีอาการหนักได้ 66 เปอร์เซ็นต์ จากการทดลองในกลุ่มตัวอย่างราว 28,000 คน จาก 50 ศูนย์ทั่วประเทศอินเดีย ในขณะที่ เดลต้า กำลังระบาดอย่างหนักที่นั่น ทำให้มั่นใจได้ว่า ไซโควี-ดี สามารถป้องกันเชื้อเดลต้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

แต่นักวิชาการบางคน รวมทั้งแพทย์หญิง คาคณะทีป กัง นักไวรัสวิทยาชื่อดังชาวอินเดียเอง ชี้ว่าประสิทธิภาพของวัคซีนชนิดนี้คือจุดอ่อนสำคัญ ปัญหาของดีเอ็นเอวัคซีนที่ผ่านมา ก็คือ มันทำงานได้ผลดีมากในสัตว์ แต่พอนำมาใช้กับมนุษย์กลับไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นได้ในระดับเทียบเท่ากับที่เคยทำได้ในสัตว์

 

 

นายแพทย์ เจเรมี คามิล นักไวรัสวิทยาประจำศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ ของมหาวิทยาลัยหลุยเซียนา ลงความเห็นไปในทำนองเดียวกัน โดยระบุว่า ส่วนที่ยากที่สุดในการใช้วัคซีนชนิดนี้ก็คือ ทำอย่างไรถึงจะให้ เซลล์ในร่างกายของมนุษย์รับเอา พลาสมิด ดีเอ็นเอ เข้าไปในเซลล์ได้ ปัญหานี้จะเกิดขึ้นมาก โดยเฉพาะในประชากรวัยผู้ใหญ่ ในขณะที่ เอ็มอาร์เอ็นเอ วัคซีน ไม่จำเป็นต้องให้เซลล์ในร่างกายคนรับเข้าไปในนิวเคลียสของเซลล์ ก็สามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นได้

 

 

ไซดัส คาดิลา อ้างว่า ข้อดีอีกประการหนึ่งของ ไซโควี-ดี ก็คือ ไม่จำเป็นต้องใช้เข็มฉีดยา วัคซีนดีเอ็นเอ ใช้การฉีดเข้าใต้ผิวหนัง (intradermal vaccine) แทนการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ แต่ผู้ฉีดต้องมีความชำนาญสูง ทำนองเดียวกับการฉีดวัคซีน บีซีจี หรือวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เป็นต้น ถ้าจะให้ ปลอดเข็ม และไม่จำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญให้วัคซีนอย่างแท้จริง ต้องเป็นวัคซีนชนิดพ่น หรือสเปรย์วัคซีน ที่กำลังทดลองอยู่ในหลายประเทศ

 

 

รวมทั้งไทย ออสเตรเลีย และอินเดีย นักวิทยาศาสตร์ นักระบาดวิทยา กำลังถกกันว่า วิธีการนี้น่าจะช่วยให้การป้องกันโควิด-19 สมบูรณ์แบบมากขึ้น เพราะไปจัดการกับไวรัสโควิด ในจุดที่เริ่มต้นเข้าสู่ร่างกาย คือ ในระบบช่องทางเดินหายใจส่วนบน นั่นเอง ที่เป็นอย่างนั้นเพราะวัคซีนแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อ สร้างภูมิคุ้มกันขึ้นในกระแสเลือด เข้าไปป้องกันปอดและอวัยวะอื่นๆ ไม่ให้ติดเชื้อ แต่ไม่ได้สร้างภูมิคุ้มกันในระดับเดียวกันขึ้นใน โพรงจมูก หรือลำคอ เป็นต้น

 

 

ผลก็คือทำให้ระบบช่องทางเดินหายใจส่วนบน ยังคงเป็นที่ชุมนุมของเชื้อ และพร้อมที่จะ แพร่ให้กับคนใกล้ๆ ตัว ต่อไป การให้วัคซีนแบบพ่น (intranasal vaccines) อาจจำเป็นเพื่้อช่วยสกัดและทำลายเชื้อตั้งแต่เริ่มแรก ซึ่งในทางการแพทย์เรียกว่า สเตอริไลซิง อิมมูนิตี ขึ้นมาได้ วัคซีนทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นเอ็มอาร์เอ็นเอ ไวรัลเวกเตอร์ หรือวัคซีนเชื้อเป็น นำไปปรับปรุงทำเป็นวัคซีนแบบพ่นได้ แต่มีความยากง่ายต่างกัน

 

 

ที่ทำกันมากที่สุดก็คือ การนำเอาวัคซีนเชื้อเป็นมาใช้เป็นวัคซีนชนิดพ่น วัคซีนชนิดพ่นมีความซับซ้อนมากกว่าวัคซีนชนิดฉีดตรงที่ ในช่องทางเดินหายใจส่วนบนของคนเรานั้นมีเยื่อบุ (mucociliary blanket) ปกคลุมอยู่เต็มไปหมด ผู้พัฒนาจำเป็นต้อง สร้างสมดุล ให้ดี โดยปริมาณเชื้อที่นำเข้าไปต้องเพียงพอต่อการสร้างภูมิคุ้มกัน แต่ต้องไม่มากเกินไป ที่จะก่อให้เกิดผลข้างเคียงขึ้น เรื่องนี้ละเอียดอ่อนอย่างมาก และทำให้สเปรย์วัคซีนหลายตัวล้มเหลวมาแล้ว

 

 

ตัวอย่างเช่น วัคซีนพ่นป้องกันไข้หวัดใหญ่ของ เบอร์นา ไบโอเทค ในสวิตเซอร์แลนด์ ที่ต้องเก็บออกจากตลาดหลังพบว่าก่อให้เกิดอาการกล้ามเนื้อใบหน้าเป็นอัมพาตชั่วคราวขึ้น เป็นต้น แต่นักวิชาการบางคนเห็นว่า วัคซีนพ่น ยังจำเป็น

ดังนั้น นอกจากไทย, ออสเตรเลีย, อินเดียแล้ว แม้แต่แอสตร้าเซนเนก้า ก็ยังอยู่ระหว่างการทดลองปรับวัคซีนของตนให้เป็นแบบพ่นอีกด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง