รีเซต

'ศบค.ส่วนหน้า' สู้โควิด '5 จังหวัดใต้'

'ศบค.ส่วนหน้า' สู้โควิด '5 จังหวัดใต้'
มติชน
20 ตุลาคม 2564 ( 06:40 )
56
'ศบค.ส่วนหน้า' สู้โควิด '5 จังหวัดใต้'

การระบาดของโควิด-19 ใน 5 จังหวัดภาคใต้ ประกอบด้วย ยะลา นราธิวาส ปัตตานี สงขลา และนครศรีธรรมราช ยังอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง ผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 2,000 คนต่อวัน แม้ช่วงต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะเดินหน้านำโมเดลของกรุงเทพมหานคร ไปใช้ในการควบคุมการแพร่ระบาดแต่แนวโน้มการระบาดยังไม่มีสัญญาณว่าจะลดลง

 

ล่าสุด บิ๊กตู่Ž พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะประธาน ศบค.ชุดใหม่ ได้ตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศบค.ส่วนหน้าŽ โดยแต่งตั้ง พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการศูนย์ จนถูกตั้งคำถามว่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้หรือไม่

 

ลองมาฟังเสียงสะท้อนและมุมมองของคนทำงานพื้นที่ นพ.รุสตา สาและŽ หัวหน้ากลุ่มงานด้านพัฒนาระบบบริการและสนับสนุนบริการสุขภาพ โรงพยาบาล จ.ปัตตานี และในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนามปัตตานี มองว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้รวมทั้งปัตตานี เป็นการระบาดเข้าไปสู่ในครัวเรือน พอในครัวเรือนจึงไม่ใช่แค่ 1 คน สมัยก่อนเมื่อระบาดในครัวเรือนจะนำคนติดเชื้อออกมา ส่วนคนสัมผัสเสี่ยงสูงจะกักตัวอีกชั้นหนึ่ง แต่ระบบปัจจุบันไม่มี คนที่ติดเชื้อไม่ได้ตรวจ คนเสี่ยงสูงไม่ได้ถูกคัดออกมาในระบบ ถ้าเขาไม่ได้มีอาการก็ไม่ได้ออกมาตรวจหาเชื้อ ตอนนี้หากโหมกำลังลงเพื่อแยกกลุ่มติดเชื้อ กลุ่มเสี่ยงออกมา การไปสุ่มตรวจจะต้องลงตรวจเป็นชุมชนไปเลย

 

ส่วนเรื่องของวัคซีนตอนนี้มีเพียงพอแล้ว โดยจะเน้นวัคซีนที่ฉีดแล้วกระตุ้นภูมิได้ดี เช่น ไฟเซอร์ที่ได้รับสรรมาก็มีเพียงพอ แต่เกิดปัญหาคนที่อยากจะฉีดวัคซีนนั้นมีน้อยลง คนที่ต้องการฉีดวัคซีนในตอนนี้จะเป็นกลุ่มเข็มกระตุ้นมากกว่า การไปตั้งจุดวอล์กอินฉีดวัคซีนคนที่จะมาฉีดเข็มแรกจะไม่มาก โดยข้อมูลการฉีดวัคซีนโควิด-19 ณ วันนี้ จำนวนฉีดสะสมเข็มแรก 42.09% เท่านั้น ในจำนวนนี้ 7 กลุ่มโรคเสี่ยงและหญิงตั้งครรภ์ฉีดแล้ว 51.47%  ประชาชนทั่วไป 37.26% หลายอำเภอรอบนอก เช่น อ.หนองจิก อ.ทุ่งยางแดง มีอัตราการฉีดวัคซีนที่ค่อนข้างน้อย ในขณะที่อำเภอเมืองฉีดแล้วเกิน 70% ตอนนี้คิดว่าอาจจะต้องปรับแนวทาง หากเราเดินถือกระเป๋า ข้างซ้ายถือชุดตรวจเอทีเค มือขวาถือวัคซีน หากใครตรวจเอทีเคแล้วผลออกมาเป็นบวกอาจจะต้องฉีดวัคซีนโควิดเลย ต้องยอมรับว่าใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีปัญหาคล้ายกัน คือ มีกลุ่มคนที่ไม่ยอมฉีดวัคซีน มีการทะเลาะถกเถียงกันว่าทำไมต้องฉีด ถือเป็นลักษณะพิเศษในพื้นที่

 

ส่วนตัวมองว่าการตั้ง ศบค.ส่วนหน้า น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่จะมีคนมาช่วยเพราะโดยลำพังเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทุกคนค่อนข้างล้ามาก จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรทุกองค์กรมาเดินร่วมกัน จะทำให้เราทำงานได้ดีขึ้น เช่น เรื่องของโครงสร้าง ทรัพยากรบุคคล อุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ ต้องลงมาทันที สิ่งที่คิดว่าจะต้องเน้น คือ การเข้ามาช่วยในส่วนของ Community Isolation เนื่องจากผู้ติดเชื้อในจังหวัดภาคใต้จะเป็นการติดเชื้อในครอบครัวใหญ่ การไปรักษาตัวที่บ้านหรือ Home Isolation อาจจะไม่เหมาะ

 

สิ่งที่อยากเสนอแนะคือ การควบคุมการระบาดจะต้องเป็นมาตรการที่ผสมกันไป เรามีการพูดถึงการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มข้น การล็อกดาวน์ทั้งพื้นที่อาจจะไม่ตอบโจทย์ แต่อาจจะต้องล็อกดาวน์เป็นชุมชนที่ติดโควิด ส่วนตัวมองว่าพอเราเติมวัคซีน มีการตรวจเอทีเคเชิงรุกในชุมชน รวมกับมาตรการที่มาเสริม เชื่อว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้นŽ นพ.รุสตากล่าว

 

ด้าน ซูการ์โน มะทาŽ ส.ส.ยะลา เขต 2 พรรคประชาชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ ระบุว่า การระบาดอย่างหนักในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาจากความผิดพลาดในการบริหารงานของรัฐบาล โดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์ ทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนพื้นที่ โดยใช้ผู้นำองค์กรศาสนาในพื้นที่เข้าไปพูดคุย มากกว่าการทำป้ายปิดประกาศ ทุกฝ่ายต้องระดมงบประมาณเพื่อทำงานเชิงรุก ให้ประชาชนเข้าใจและตระหนักในอันตรายของโรค เพราะจากการไปพูดคุยประชาชนพบว่ายังใช้วิถีชีวิตแบบเดิม ช่วงเช้ายังไปรวมตัวที่ร้านน้ำชาโดยไม่สวมหน้ากากอนามัย ไม่ปฏิบัติตามแนวทางในการป้องกันโรค

 

ขณะเดียวกันปัญหาเฟคนิวส์ หรือ ข่าวปลอม อาทิ การแชร์ข่าวว่าฉีดวัคซีนแล้ว จะเสียชีวิต  หรือข่าวลือว่าวัคซีนเป็นเรื่องของเชื้อโรคที่ฝ่ายตรงข้ามกับศาสนาอิสลามต้องการทำลายล้างประชาชน เป็นชุดความเชื่อจากข่าวปลอม แต่ภาครัฐไม่ได้ชี้แจง เมื่อมีการรณรงค์ให้ประชาชนไปฉีดวัคซีนจึงมีผลกระทบไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร ผมไม่เห็นด้วยกับการตั้ง ศบค.ส่วนหน้า เพราะ ศบค.ชุดใหญ่ก็มีอำนาจทั่วประเทศ ทำไมต้องให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ใช้องค์กรอื่นทำหน้าที่ซ้ำซ้อน ทั้งที่เดิมก็มี ศอ.บต. ทำหน้าที่ รัฐบาลกลางควรใช้ ศอ.บต.เป็นเครื่องมือในการทำงาน เพราะมีทั้งสภาพลเรือนซึ่งแต่งตั้งไว้เป็นตัวแทนของประชาชน ที่สำคัญการจัดการโควิดให้ประชาชนติดเชื้อลดลงหัวใจสำคัญอยู่ที่การฉีดวัคซีนให้เร็วŽ ซูการ์โน มะทา ระบุ

 

ขณะที่ นพ.มูฮำหมัดฟะห์มี ตาเละŽ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดวิทยา มองว่า วิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่ส่วนใหญ่เป็นรูปแบบครอบครัวใหญ่ ครอบครัวขยาย ใช้ชีวิตปฏิสัมพันธ์ร่วมกันตลอดเวลา จึงทำให้เกิดการแพร่เชื้อจากคนสู่คนได้ง่าย แพร่กระจายเร็วขึ้น รวมถึงความคิดของศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง สำหรับการตั้ง ศบค.ส่วนหน้าเป็นวิธีการจัดการอำนาจของรัฐแบบเดิมๆ ทั้งที่มีผู้บริหารจัดการในพื้นที่อยู่แล้ว เช่น กรมควบคุมโรค ผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ในพื้นที่ของ 3 จังหวัด ที่มีอะไรเหมือนๆ กัน ต้องแก้ไขจัดการทิศทางลักษณะเดียวกัน เพราะสัมพันธ์กันอยู่โดยประชุมทั้ง 3 จังหวัดไปพร้อมกัน และแก้ปัญหาไปในทิศทางเดียวกันถือเป็นเรื่องดีกว่า

 

อีกด้านหนึ่ง นพ.จรัสพงษ์ สุขกรีŽ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช บอกว่า สาเหตุหลักๆ มาจากการที่ประชาชนไม่ตระหนัก ไม่กลัว ไม่เหมือนกับปีที่แล้ว แต่ละหมู่บ้านมีคนติด 7-8 คน ทุกคนจะตระหนกตกใจ หยุดเชื้อ อยู่กับบ้าน พอเข้าระลอกนี้คนติดเชื้อกันมาก ยังเห็นไปนั่งกินอาหารแออัด อากาศปิด รวมถึงกิจกรรมวงสันทนาการ ปาร์ตี้น้ำชาวงเล็กๆ เป็นต้น ที่สำคัญการปกปิดข้อมูล ทำให้คนที่อยู่รอบข้างติดเชื้อไม่รู้ตัวกลายเป็นพาหะแพร่กระจายไปยังต่างอำเภอ ต่างชุมชน สร้างความโกลาหลกัน จนนำมาสู่การติดเชื้อกับบุคลากรทางการแพทย์

 

วันนี้เราเจอเชื้อกลายพันธุ์ มาตรการป้องกันจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ เราขาดวินัยไม่เคารพกฎหมาย บางคนได้รับรายงานว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงต่ำ ยังออกมานอกบ้าน จังหวัดจึงต้องใช้มาตรการบังคับโดยการบูรณาการร่วมกันทุกฝ่ายลงทุกพื้นที่ ตำบล ชุมชน โดยเฉพาะที่ศูนย์พักคอย บ้านสำหรับกลุ่มเป้าหมาย เมื่อไม่ปฏิบัติตนเอง ก็ต้องบังคับ คาดจะใช้เวลาเพียงไม่นานจะสามารถคลี่คลายลงได้Ž นพ.จรัสพงษ์กล่าว

 

จับตาการตั้ง ศบค.ส่วนหน้าŽ จะตอบโจทย์ลดการแพร่ระบาดของโควิดใน 5 จังหวัดภาคใต้ได้หรือไม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง