รีเซต

เริ่ม ‘ไฟเซอร์’ น.ร. ลุ้นเปิดเทอม ออนไซต์ 1 พ.ย.

เริ่ม ‘ไฟเซอร์’ น.ร. ลุ้นเปิดเทอม ออนไซต์ 1 พ.ย.
มติชน
5 ตุลาคม 2564 ( 07:01 )
69
เริ่ม ‘ไฟเซอร์’ น.ร. ลุ้นเปิดเทอม ออนไซต์ 1 พ.ย.

ดีเดย์พร้อมกันทั่วประเทศ 4 ต.ค. ไปแล้วในการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มแรกให้นักเรียน นักศึกษากว่า 15,000 แห่งใน 29 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้มที่พบการระบาดของไวรัสโควิด-19 จำนวนมาก โดย “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลงพื้นที่เป็นประธานในการฉีดไฟเซอร์ ที่โรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์ กรุงเทพฯ คิกออฟปักไฟเซอร์เข็มแรกสร้างภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ให้นักเรียน อายุ 12-18 ปีบริบูรณ์ เป้าหมายนักเรียน นักศึกษาทุกสังกัด จำนวน 5,048,081 คน ระยะแรก 2 ล้านโดส ภายในเดือนตุลาคม และจะเร่งฉีดให้ครบ 2 เข็มภายในเดือนพฤศจิกายน รวมถึงเร่งฉีดวัคซีนให้ครูและบุคลากรในโรงเรียนให้ครอบคลุม เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้นักเรียน/เยาวชนให้มากที่สุด

 

 

ขณะที่ ศธ. เร่งดำเนินการโครงการ Sandbox Safety Zone in School (SSS) สำหรับโรงเรียนที่มีความพร้อม โดยคาดหวังให้โรงเรียนกลับมาเปิดเรียน On Site ให้ได้ภายในเดือนพฤศจิกายน เพื่อลดความเครียดและข้อจำกัดของนักเรียนในการเรียนการสอนออนไลน์ การฉีดครั้งนี้จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เดินสายประชาสัมพันธ์แจงข้อดี เพื่อเชิญชวนให้ผู้ปกครองยินยอมให้บุตรหลานเข้ารับการฉีดวัคซีน ข้อมูลล่าสุด ผู้ปกครองยินยอมให้ลูกเข้ารับการฉีดวัคซีนแล้วกว่าร้อยละ 80 และคาดว่าจะมีผู้ปกครองทยอยแจ้งความประสงค์ให้นักเรียน ฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด.ญ.วิสารัช วาจางาม นักเรียนระดับชั้น ม.3 เข้ารับวัคซีนวันนี้ ที่โรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์ กล่าวว่า ต้องการเข้ารับวัคซีนและได้แจ้งกับ

 

 

ผู้ปกครอง ส่วนตัวไม่กังวล เพราะได้ศึกษาผล กระทบและผลข้างเคียงมาแล้ว ที่สำคัญอยากเปิดเรียนแบบปกติโดยเร็วที่สุด ที่ผ่านมา เรียนออนไลน์ตลอดเวลา ค่อนข้างไม่มีสมาธิ “ที่ผ่านมาการเรียนออนไลน์ส่งผล

 


กระทบกับนักเรียนมาก เช่น เพื่อนในห้อง ไม่มีอุปกรณ์ที่เพียงพอ ไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้ ทำให้เรียนไม่ทันเพื่อนในห้อง ครูและเพื่อนคนอื่นๆ ต้องช่วยอธิบายเนื้อหา”
ด.ญ.วิสารัสกล่าว ขณะที่ น.ส.ณัฐธยาน์ บุณยทวีพัฒน์

 

 

ผู้ปกครองนักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ 3 อายุ 18 ปี สถาบันอาชีวศึกษาแห่งหนึ่ง กล่าวว่า ส่วนตัวยินยอมให้ลูกฉีดวัคซีน เพราะตอนนี้ยังไม่มีมาตรการป้องกันเชื้อโควิด-19 ที่ดีกว่าการฉีดวัคซีน อีกทั้ง ไฟเซอร์ก็เป็นวัคซีนที่ได้รับการยอมรับในหลายประเทศทั่วโลก คิดว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นน่าจะไปในทางบวก มากกว่าลบ แน่นอนว่า ทั้งนี้ ศธ.และรัฐบาลต้องมีความชัดเจน กรณีเด็กที่ผู้ปกครองไม่ยินยอมให้ฉีดวัควีน จะมีมาตรการในการดูแลอย่างไรทั้งเรื่องการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และแนวทางการจัดการเรียนการสอน และต้องชี้แจงให้นักเรียนและผู้ปกครองได้รับทราบก่อนเปิดเทอม “ผู้ปกครองทุกคนมีความห่วงใยลูก แต่เมื่อดูข้อมูลและวิเคราะห์แล้ว น่าจะเป็นผลดีมากกว่า ดังนั้น จึงยินยอมให้ลูกฉีดวัคซีน อีกทั้งตัวลูกเองก็อยากกลับมาเรียนแบบปกติให้เร็วที่สุด เพราะตอนนี้เป็นช่วงการฝึกปฏิบัติงาน กังวลว่าจะมีผลกระทบต่อการจบการศึกษา” น.ส.ณัฐธยาน์กล่าว สำหรับการเปิดเรียน นั้น น.ส.ตรีนุช เทียนทอง

 

 

รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ชี้แจงว่า หากนักเรียนได้รับวัคซีนครบหมด ก็จะเปิดภาคเรียนที่ 2 ในวันที่ 1 พฤศจิกายนแน่นอน เพียงแต่ว่าจะเปิดเรียนรูปแบบไหนนั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด พิจารณาอนุมัติว่า สถานศึกษาแต่ละแห่งควรจะเปิดเรียนในรูปแบบไหน การฉีดวัคซีนเป็นเพียงการป้องกันให้ผู้เรียนมีความปลอดภัยในระดับหนึ่ง เพื่อเป็นการยืนยันว่า แม้นักเรียนจะติดเชื้อ แต่จะมีอาการไม่รุนแรงนักเรียน แต่การที่จะเปิดเรียนในโรงเรียนต้องมีมาตรการอื่นๆ ประกอบการพิจารณาด้วย เช่น การเว้นระยะห่าง มีเจลแอลกอฮอล์ให้นักเรียน เป็นต้น ด้าน นางวิไล อินทร์ไชย อายุ 46 ปี

 

 

ผู้ปกครองนักเรียนชั้น ม.2 ซึ่งเข้ารับการฉีดวัคซีนวันแรก บอกว่า ยินยอมให้ฉีดเพราะอยากให้ลูกปลอดภัย ส่วนตัวไม่มีความกังวล จากการหาข้อมูล พบว่าวัคซีนมีความปลอดภัยระดับหนึ่ง อีกทั้งยังอยากให้ลูกกลับมาเรียนโดยเร็วที่สุด “ใจจริงอยากให้เปิดเทอมเร็วๆ ที่ผ่านมาลูกเรียนออนไลน์ ได้รับความรู้ไม่เต็มที่ แต่ถ้าหากให้กลับมาเรียนที่โรงเรียน โดยยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ก็อาจไม่มีความปลอดภัย เพราะต้องเจอคนเยอะ และหากลูกติดเชื้อคนในครอบครัวอาจจะมีความเสี่ยงตามไปด้วย กลัวไปติดน้องเล็ก ซึ่งอายุเพียง 10 ขวบด้วย จึงอยากให้รัฐบาลขยายผลมาฉีดให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปีโดยเร็วที่สุด” นางวิไลกล่าว ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ในไทยหลายตัว แต่ที่นำมาฉีดให้เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปได้ ขณะนี้มีตัวเดียวในไทย คือ วัคซีนไฟเซอร์ ที่เป็นชนิด mRNA ส่วน

 


วัคซีนโมเดอร์นา ยังไม่เข้ามาและไม่ใช่วัคซีนหลักที่รัฐบาลไทยจัดหา ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนในเด็กของประเทศไทยมีระบบเดิมอยู่แล้ว เช่น วัคซีน HPV ที่ฉีดให้เด็กหญิงชั้น ป.6 ขึ้นไป วัคซีนไฟเซอร์ล็อตแรก 2 ล้านโดส ส่วนใหญ่จะถึงที่โรงเรียนแล้ว และวันที่ 6 ตุลาคม จะเข้ามาเพิ่มอีก 1.5 ล้านโดส สัปดาห์ถัดไปจะมาอีกประมาณ 1.5 ล้านโดส

 

 

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะเร่งกระจายออกไป คาดว่าภายใน 2 สัปดาห์ จะมีวัคซีนกระจายไปครบตามจำนวนนักเรียนที่ฉีด ขณะที่ยอดรวมผู้ประสงค์ขอรับวัคซีน 5 อันดับแรก กรุงเทพฯ 358,117 ราย จากนักเรียน นักศึกษาทั้งหมด 420,791 ราย คิดเป็นร้อยละ 85.11 นครราชสีมา 144,497 ราย จากนักเรียน นักศึกษาทั้งหมด 176,587 ราย คิดเป็น ร้อยละ 81.83 อุดรธานี 96,072 ราย จากนักเรียน นักศึกษาทั้งหมด 154,450 ราย คิดเป็นร้อยละ 62.20 เชียงใหม่ 94,741 จากนักเรียน นักศึกษาทั้งหมด 138,618 ราย คิดเป็นร้อยละ 68.35 และจังหวัดสงขลา 92,235 ราย จากนักเรียน นักศึกษาทั้งหมด 114,895 ราย คิดเป็นร้อยละ 80.28 จากนี้คงต้องจับตาดูผลกระทบหลังนักเรียนได้รับวัคซีนเข็มแรก ที่สำคัญแม้จะฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมแต่หากไม่มีความชัดเจน เรื่องการเรียนการสอนและการดูแลความปลอดภัย ผู้ปกครองและนักเรียนคงหายใจได้ไม่ทั่วท้อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง