เปิดแผน 'ปั้นสายเดินเรือแห่งชาติ'
หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มอบนโยบายให้ ‘กระทรวงคมนาคม’ จัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ เพื่อพัฒนาการขนส่งทางทะเลของไทยให้มีประสิทธิภาพ โดยในช่วงแลกของการผลักดันนโยบาย กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติขึ้นมาใหม่ เนื่องจากอดีตถึงปัจจุบัน กองเรือพาณิชย์ของไทยที่ทำการขนส่งสินค้าทางทะเล มีขนาดเล็ก มีระวางบรรทุกน้อย ไม่สามารถขนส่งระยะไกล เรือสินค้าไทยมีสัดส่วนในการขนส่งสินค้าเข้า-ออกจากประเทศเพียง 9% และไทยต้องพึ่งพาเรือสินค้าต่างชาติถึง 91% ทำให้ไทยขาดดุลค่าระวางขนส่งสินค้าสูงถึงประมาณ 90% คิดเป็นเงินประมาณ 1.33 ล้านล้านบาทต่อปี
จากนโยบายและปัญหาในอดีตดังกล่าว เป็นผลให้กระทรวงคมนาคมจัดตั้งคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติขึ้น เพื่อให้คณะกรรมการเป็นกลไกเร่งรัดการดำเนินงานและการขับเคลื่อนเพื่อจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติให้สำเร็จโดยเร็วต่อไป ซึ่งในการทำงานเบื้องต้น นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้คณะกรรมการดำเนินการดังนี้
1.มอบหมายให้ปลัดกระทรวงคมนาคม ร่วมกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย และกรมเจ้าท่า เชิญสถาบันการศึกษา เพื่อหารือเกี่ยวกับความพร้อมในการจัดเตรียมบุคลากรด้านพาณิชย์นาวี สำหรับรองรับจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ 2.มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร จัดตั้งคณะอนุกรรมการในแต่ละด้านเพื่อขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติต่อไป 3.มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับรูปแบบการลงทุนและการถือหุ้นของบริษัทเดินเรือในประเทศต่างๆ เพื่อนำมาเป็นแนวทางและรูปแบบการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ ต่อไป
4.มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ศึกษาแนวทางการกำหนดสิทธิประโยชน์ และการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนและจดทะเบียนเรือในประเทศไทย และ 5.มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมในรูปแบบการดำเนินงานของ บริษัท สายการเดินเรือแห่งชาติ จำกัด ในกรณีที่รัฐบาลถือหุ้นบุริมสิทธิ เพื่อให้มีความคล่องตัวในการดำเนินงานและมีอำนาจในการตัดสินใจ
จากข้อสั่งการดังกล่าว ปัจจุบันได้ข้อสรุปแนวทางการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ ซึ่งผลการศึกษาเบื้องต้นระบุว่า ควรจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ 2 เส้นทาง คือ 1.การเดินเรือภายในประเทศ (Domestic Marine Line) เชื่อมโยงการเดินทางอ่าวไทย ซึ่งเป็นการร่วมมือกับภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยกระทรวงคมนาคมจะสนับสนุนเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและท่าเทียบเรือ เพื่อรองรับการดำเนินการดังกล่าว รวมทั้งการพิจารณาอนุญาตเกี่ยวกับสายการเดินเรือ
ปัจจุบันกรมเจ้าท่าได้ร่วมกับบริษัท ซีฮอร์ส เฟอร์รี่ จำกัด นำเรือ Ro-Ro Ferry The Blue Dolphin เดินเรือเฟอร์รี่ข้ามอ่าว เส้นทางระหว่าง จ.ชลบุรี-จ.สงขลา เปิดให้บริการเส้นทางสัตหีบ-สงขลา ซึ่งเป็นการดำเนินงานภายใต้การพัฒนาสายการเดินเรือภายในประเทศ เพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์ทางน้ำของประเทศ โดยได้เริ่มทดสองให้บริการเดินเรือเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา และมีแผนเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในปี 2565 โดยระยะแรกจะเปิดให้บริการเส้นทางท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ (จุกเสม็ด)-ท่าเรือสวัสดิ์ จ.สงขลา ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการจราจร ลดปริมาณรถในการขนส่งสินค้าได้ประมาณ 90,000 คันต่อปี
และ 2.การเดินเรือในระดับ International แบ่งเป็น สายการเดินเรือฝั่งตะวันออก (East) ตั้งแต่กัมพูชา เวียดนาม เกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น และฝั่งตะวันตก (West) ได้แก่ แอฟริกา และยุโรป หรือกลุ่ม BIMSTEC คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565
สำหรับเรือ The Blue Dolphin ได้รับการรับรองมาตรฐานจากกรมเจ้าท่า มีอุปกรณ์ความปลอดภัยที่ได้มาตรฐานสากล ทำให้ผู้โดยสารมีความเชื่อมั่นในความปลอดภัยในการเดินทาง รวมทั้งมีตารางเดินเรือที่แน่นอน สามารถเดินทางระหว่างภาคตะวันออก-ภาคใต้ได้อย่างสะดวก โดยเรือมีขนาด 7,003 ตันกรอส ยาว 136.6 เมตร กว้าง 21 เมตร กินน้ำลึก 5.7 เมตร มีพื้นที่รองรับการขนส่งยานพาหนะ ความยาว 916 เมตร สามารถรองรับรถยนต์ส่วนบุคคลและรถบรรทุกได้ประมาณ 100 คัน รองรับผู้โดยสารได้ 536 คน เดินเรือด้วยความเร็วประมาณ 20 นอต หรือประมาณ 36 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้ระยะเวลาเดินทางประมาณ 20 ชั่วโมง ให้บริการ 1 เที่ยว ไป-กลับต่อสัปดาห์ ในวันอังคาร-พุธ และจะขยายการให้บริการในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ เพื่อรองรับการท่องเที่ยว
ซึ่งการเปิดให้บริการเดินเรือดังกล่าว จะทำให้ประชาชนและผู้ใช้บริการที่ต้องการเดินทางหรือขนส่งสินค้าระหว่าง ภาคตะวันออก-ภาคใต้ มีทางเลือกในการเดินทาง การขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น รวมทั้งช่วยลดปัญหาการจราจรทางบก ลดความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุทางถนน ลดต้นทุนการบำรุงรักษาถนน เสริมศักยภาพสายการเดินเรือภายในประเทศ และสนับสนุนการพัฒนาระบบขนส่งเชื่อมโยงพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี อีกทางหนึ่งด้วย
นอกจากนี้ กระทรวงได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) ระหว่าง จ.ชุมพร-จ.ระนอง ให้เป็นเส้นทางหลักในการขนส่งสินค้าเชื่อมโยงมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการศึกษาพิจารณาบทเรียนและความสำเร็จของช่องทางการเดินทาง โดยเป็นการร่วมลงทุนกับภาคเอกชน ซึ่งจะมีการจัดโรดโชว์ในงานแสดงสายการเดินเรือระดับโลก เพื่อแสดงให้เห็นถึงความคุ้มค่าในการเดินทางและค่าใช้จ่ายและมาร่วมลงทุน ซึ่งปัจจุบันได้รับความสนใจจากหลายประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น ตุรกี ฝรั่งเศส และอังกฤษ ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 ซึ่งจะมีปริมาณสินค้าเข้าประมาณ 20 ล้านทีอียู ถือเป็นความท้าทายที่จะดึงดูดให้ผู้ประกอบการจากทั่วโลกมาใช้เส้นทางแลนด์บริดจ์ เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
โดยสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการเดินหน้าศึกษา การจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ ซึ่งผลสำเร็จอาจจะไม่ได้เห็นในเร็วๆ นี้ แต่เมื่อการศึกษาแล้วเสร็จ กระทรวงคมนาคมมั่นใจว่าการจัดตั้งดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติแน่นอน