รีเซต

วิกฤตแล้งคร่าชีวิตสัตว์ป่า ช้าง-ม้าลาย-แรด ล้มตายกลางเคนยา

วิกฤตแล้งคร่าชีวิตสัตว์ป่า ช้าง-ม้าลาย-แรด ล้มตายกลางเคนยา
TNN ช่อง16
9 เมษายน 2568 ( 11:00 )
9

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศทั่วโลก ทั้งภัยแล้งที่ถี่ขึ้น พายุและคลื่นความร้อนที่รุนแรงขึ้น น้ำแข็งขั้วโลกละลาย มหาสมุทรอุ่นขึ้น และระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูง ล้วนเป็นภัยคุกคามต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก ไม่เว้นแม้แต่มนุษย์เอง


ในโครงการซีรีส์ “How climate changes wildlife” องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ได้เปิดเผยถึงผลกระทบของ climate change ที่มีต่อสัตว์ป่า โดยเริ่มจากภูมิภาคแอฟริกา ซึ่งกำลังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง แม้จะมีส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าทวีปอื่นๆ หลายเท่า


ประเทศเคนยาเผชิญกับภัยแล้งที่ยาวนานและรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี รุนแรงถึงขั้นที่ WWF-Kenya ต้องเปิดโครงการฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือช้างและสัตว์ป่าจากภาวะขาดแคลนน้ำและอาหาร ภัยแล้งครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อทั้งมนุษย์และสัตว์ป่าอย่างกว้างขวาง เกษตรกรไม่สามารถเพาะปลูกได้ สัตว์เลี้ยงนับแสนตัวตายเพราะความหิวและกระหาย ผู้คนนับล้านต้องเผชิญกับความอดอยาก

สัตว์ป่าที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักคือช้าง โดยเฉพาะลูกช้างและแม่ช้างที่ให้นม จากการศึกษาช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงตุลาคม 2022 พบว่าช้างในเคนยาเสียชีวิตจากภัยแล้งถึง 205 ตัว นอกจากนี้ยังมีม้าลายธรรมดา 381 ตัว ม้าลาย Grevy’s ซึ่งใกล้สูญพันธุ์อีก 49 ตัว วิลเดอบีสต์ 512 ตัว ควายป่า 51 ตัว ยีราฟ 12 ตัว และแรดอีก 1 ตัว

 

ช้างแอฟริกันแม้จะมีความสามารถในการปรับตัวสูง เช่น อยู่ได้ในหลายสภาพแวดล้อม กินอาหารหลากหลาย และเดินทางไกลเพื่อหาน้ำและอาหาร แต่ climate change ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง พวกมันต้องเผชิญกับโรคที่ระบาดมากขึ้นจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น รวมถึงปัญหาที่อยู่อาศัยกระจัดกระจาย ทำให้การเดินทางไปยังแหล่งน้ำหรืออาหารใหม่เสี่ยงอันตรายมากขึ้น และยังเกิดการแยกกลุ่มประชากรที่กระทบต่อความหลากหลายทางพันธุกรรม

 

ช้างต้องการน้ำถึง 300 ลิตรต่อวันแค่เพื่อการดื่มเท่านั้น จึงไม่แปลกที่การขาดน้ำกลายเป็นภัยคุกคามสำคัญ การแย่งน้ำกันระหว่างสัตว์ป่า มนุษย์ และปศุสัตว์ในแอฟริกายิ่งทำให้สถานการณ์ตึงเครียดขึ้น

WWF ได้ดำเนินการทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเพื่อลดผลกระทบจากภัยแล้ง โดยในระยะสั้นได้ส่งน้ำและฟางไปยังพื้นที่ประสบภัย ส่วนในระยะยาว ได้ขุดบ่อน้ำ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ และสร้างแหล่งเก็บน้ำฝน รวมถึงทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นเพื่ออนุรักษ์พื้นที่และเปิดทางให้สัตว์ป่าสามารถเดินทางไปหาน้ำและอาหารได้อย่างปลอดภัย

 

การอนุรักษ์สัตว์ป่าและการแก้ปัญหา climate change ต้องดำเนินไปพร้อมกัน การฟื้นฟูระบบนิเวศ เช่น ป่าไม้ แม่น้ำ และพื้นที่ชุ่มน้ำ ไม่เพียงช่วยสัตว์ให้ปรับตัวต่อสภาพอากาศ แต่ยังช่วยดูดซับคาร์บอน ปกป้องแหล่งน้ำ ฟื้นฟูดิน และสร้างอาชีพที่ยั่งยืนให้แก่ชุมชน

 

จากแอฟริกาสู่ทั่วโลก WWF ยังคงทำงานกับพันธมิตรท้องถิ่น เพื่อสร้าง Nature-based solutions ให้โลกของคนและสัตว์มีความยืดหยุ่นและอยู่รอดได้ในยุคของการเปลี่ยนแปลง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง