รีเซต

NASA ทดสอบโครงการ DART ป้องกันโลกจากดาวเคราะห์น้อย พร้อมถ่ายทอดสด 27 กันยายนนี้

NASA ทดสอบโครงการ DART ป้องกันโลกจากดาวเคราะห์น้อย พร้อมถ่ายทอดสด 27 กันยายนนี้
TNN ช่อง16
25 สิงหาคม 2565 ( 15:52 )
164

ช่วงที่ผ่านมาคุณคงจะได้เห็นข่าวรายงานดาวเคราะห์น้อยโคจรเฉียดโลกกันบ่อยขึ้น อาจเป็นเพราะเทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้น นักดาราศาสตร์สามารถติดตามการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะได้ดีขึ้นกว่าเดิม จึงไม่แปลกที่จะมีรายงานการโคจรเข้าใกล้โลกของดาวเคราะห์น้อยกันมากขึ้น


ที่มาของภาพ NASA

 


แต่ถ้าหากดาวเคราะห์น้อยนั้นเสี่ยงต่อการพุ่งชนโลกจริง ๆ เราจะรับมือได้อย่างไร? นี่จึงกลายเป็นที่มาของโครงการทดสอบเปลี่ยนวิถีวงโคจรดาวเคราะห์น้อย หรือ DART (Double Asteroid Redirection Test) ขององค์การนาซา (อ่านบทความ วิธีการรับมือหากดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลก เพิ่มเติมได้ที่ ลิงก์นี้)



ล่าสุดยานอวกาศของโครงการกำลังเคลื่อนที่เข้าใกล้ดาวเคราะห์น้อยเป้าหมาย โดยคาดว่าจะสำเร็จภารกิจการพุ่งชนในวันที่ 27 กันยายนนี้ ซึ่งทางนาซาจะถ่ายทอดสดให้ทั่วโลกได้รับชม "การเบี่ยงวิถีดาวเคราะห์น้อยครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ"


โครงการ DART ได้ส่งยานขึ้นสู่อวกาศจำนวน 2 ลำ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2564 ได้แก่ ยาน DART ที่ทำหน้าที่พุ่งชนเบี่ยงวิถี และยาน LICIACube ที่พ่วงติดไปด้วย ทำหน้าที่เก็บข้อมูลและสังเกตการณ์ ซึ่งเป้าหมายของยาน DART คือ ดาวเคราะห์น้อย ไดมอร์ฟอส (Dimorphos) ที่โคจรรอบดาวเคราะห์น้อย ไดดิมอส (Didymos)


ที่มาของภาพ NASA

 


ในปฏิบัติการนี้ ยาน DART จะพุ่งชนดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟอสเพื่อให้เกิดแรงผลักเคลื่อนวงโคจรออกไปเล็กน้อย ในขณะที่ยาน LICIACube จะผละออกจากยาน DART ก่อนการพุ่งชน เพื่อเก็บข้อมูลต่าง ๆ พร้อมส่งกลับมายังโลก นอกจากนี้ หากการพุ่งชนเป็นไปตามแผนที่วางไว้ นักดาราศาสตร์จะสามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงวงโคจรของดาวเคราะห์น้อยผ่านกล้องโทรทรรศน์บนโลกได้ทันที


เนื่องจากดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟอสอยู่ในตำแหน่งที่เสี่ยงต่อการพุ่งชนโลกน้อยมาก (ห่างจากโลกมากถึง 11 ล้านกิโลเมตร) จึงเหมาะแก่การศึกษาเพื่อพิสูจน์ความเป็นไปได้ ในการป้องกันโลกจากการพุ่งเข้าชนของดาวเคราะห์น้อยดวงอื่น ๆ



สำหรับการรับชมปฏิบัติการครั้งสำคัญนี้ องค์การนาซาจะเริ่มถ่ายทอดสดผ่านทางช่องยูทูบ NASA ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2565 เวลา 5.00 น.โดยคาดว่ายาน DART จะพุ่งชนในเวลา 6.14 น. จากนั้นนาซาจึงจะเริ่มรายงานผลการทดลองในครั้งนี้ว่าการพุ่งชนของ DART สามารถเปลี่ยนวงโคจรของดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟอสได้ตามทฤษฎีหรือไม่ โดยอาศัยข้อมูลจากการสังเกตการณ์ผ่านกล้องโทรทรรศน์บนพื้นโลก และข้อมูลที่ส่งมาจากยาน LICIACube


แม้การพุ่งชนของยาน DART จะเปลี่ยนวิถีวงโคจรของดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟอสเพียงเล็กน้อย แต่มันสามารถเปลี่ยนเหตุการณ์จากดาวเคราะห์น้อย “พุ่งชนโลก” ให้กลายเป็น “เฉียดโลก” ได้เลยทีเดียว


ขอขอบคุณข้อมูลจาก Interesting Engineering

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง