รีเซต

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ 2 นาย เชื่อว่าเครื่องบินขับไล่ J-10C ของปากีสถานยิงเครื่องบิน Rafale ของอินเดียตกจริง

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ  2 นาย เชื่อว่าเครื่องบินขับไล่ J-10C ของปากีสถานยิงเครื่องบิน Rafale ของอินเดียตกจริง
TNN ช่อง16
10 พฤษภาคม 2568 ( 23:39 )
14

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน โดยอ้างอิงแหล่งข่าวจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ว่าเครื่องบินรบ J-10C ซึ่งผลิตโดยจีนและประจำการในกองทัพอากาศปากีสถาน ได้ยิงขีปนาวุธอากาศสู่อากาศใส่เครื่องบินรบของอินเดียตกอย่างน้อย 2 ลำ หนึ่งในนั้นยืนยันว่าเป็น Rafale F3R รุ่นทันสมัยจากฝรั่งเศส ซึ่งถือเป็นเครื่องบินรบที่ทันสมัยที่สุดของอินเดีย

รัฐมนตรีกลาโหมของปากีสถาน คาวาจา มูฮัมหมัด อาซิฟ (Khawaja Muhammad Asif) ระบุว่า อินเดียสูญเสียเครื่องบินรบไปถึง 5 ลำ รวมถึง Rafale 3 ลำ ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศ อิชาค ดาร์ ชี้ว่าเป็น “ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่” โดยมีรายงานว่านักการทูตจีนในอิสลามาบัดแสดงความยินดีอย่างชัดเจน

แม้รัฐบาลอินเดียจะยังไม่ยืนยันอย่างเป็นทางการถึงการสูญเสียเครื่องบิน แต่มีรายงานจากสื่อและนักวิเคราะห์ข่าวกรองโอเพ่นซอร์สว่าพบซากเครื่องบิน Rafale ในเขตบาธินดา ซึ่งอยู่ลึกเข้ามาในดินแดนของอินเดีย ขณะเดียวกัน อินเดียก็อ้างว่าสามารถโจมตีเป้าหมายของผู้ก่อการร้ายในปากีสถานได้สำเร็จ

เหตุการณ์นี้ได้รับความสนใจอย่างมากจากมหาอำนาจ เช่น สหรัฐฯ รัสเซีย และจีน เพราะถือเป็นครั้งแรกที่มีการปะทะจริงระหว่างเทคโนโลยีทางทหารของจีนกับเครื่องบินจากชาติตะวันตก โดยเฉพาะการใช้ขีปนาวุธ PL-15 ซึ่งมีพิสัยไกลกว่า 145 กิโลเมตร พร้อมระบบนำทางเรดาร์คู่ที่ทำให้หลบหลีกการโจมตีสวนกลับได้ดี นี่ถือเป็นการใช้งานจริงในสนามรบครั้งแรกของขีปนาวุธรุ่นนี้

ฟาเบียน ฮอฟฟ์มันน์ นักวิจัยด้านขีปนาวุธจากศูนย์วิเคราะห์นโยบายยุโรป ระบุว่า “นี่คือการสาธิตศักยภาพเทคโนโลยีทางอากาศของจีนต่อสายตาชาวโลก”

นอกจากนี้ เหตุการณ์ยังสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของสมดุลอำนาจในภูมิภาคอย่างชัดเจน โดยข้อมูลจากสถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศสตอกโฮล์ม (SIPRI) ระบุว่า 82% ของอาวุธที่ปากีสถานนำเข้ามาจากจีน ขณะที่อินเดียหันไปพึ่งฝรั่งเศส อิสราเอล และสหรัฐฯ มากขึ้น หลังลดการพึ่งพารัสเซีย อย่างไรก็ตาม ความล่าช้าในการส่งมอบอาวุธจากชาติตะวันตกกลับทำให้กองทัพอินเดียต้องใช้งานเครื่องบินรุ่นเก่าอย่าง MiG ต่อไป

นักวิเคราะห์เตือนว่าการปะทะในครั้งนี้อาจเป็นภาพสะท้อนของความขัดแย้งขนาดใหญ่ในอนาคต ซึ่งเทคโนโลยีอาวุธจากจีนอาจมีบทบาทมากกว่าที่เคยคาดการณ์ โดยเฉพาะในพื้นที่เปราะบางเช่น ช่องแคบไต้หวัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง