รีเซต

โลกร้อนกับแผ่นดินไหว ภัยใกล้ตัวที่รุนแรงขึ้นทุกวัน

โลกร้อนกับแผ่นดินไหว  ภัยใกล้ตัวที่รุนแรงขึ้นทุกวัน
TNN ช่อง16
30 เมษายน 2568 ( 08:26 )
8

ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย โพสเกี่ยวกับ โลกร้อนกับแผ่นดินไหว ภัยใกล้ตัวที่รุนแรงขึ้นทุกวัน 

 

ในอดีต "แผ่นดินไหว" เคยถูกมองว่าเป็นภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นโดยไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า แต่ในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกเริ่มค้นพบว่า ภัยธรรมชาตินี้อาจมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับภาวะโลกร้อนที่มนุษยชาติกำลังเผชิญอยู่ โดยเฉพาะการละลายของธารน้ำแข็งและการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ซึ่งเป็นผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


หนึ่งในข้อค้นพบสำคัญจากแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ระบุว่า ธารน้ำแข็งในพื้นที่อย่างเกาะกรีนแลนด์และอลาสก้า ทำหน้าที่คล้าย "ตัวกดทับ" และ "ตัวยึด" รอยแยกของแผ่นเปลือกโลกเอาไว้ ธารน้ำแข็งเหล่านี้มีน้ำหนักมากพอที่จะยับยั้งการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกได้ เมื่อโลกยังอยู่ในยุคน้ำแข็ง จึงไม่ค่อยเกิดแผ่นดินไหวบ่อยนัก อย่างไรก็ตาม เมื่อโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นเกือบ 1.5 องศาเซลเซียสจากช่วงก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ธารน้ำแข็งจำนวนมากก็เริ่มละลาย ตัวเชื่อมที่เคยกดทับรอยแยกจึงหายไป ทำให้แผ่นเปลือกโลกสามารถดีดตัวกลับอย่างรวดเร็วราวกับฟองน้ำ และส่งผลให้เกิดการปลดปล่อยพลังงานหรือความเครียดที่สะสมไว้ออกมาในรูปแบบของแผ่นดินไหว ซึ่งมีความถี่และความรุนแรงมากขึ้นถึง 5 เท่าจากเดิม โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างเด่นชัด ได้แก่ เทือกเขาหิมาลัย เทือกเขาแอนดีส และอลาสก้า

นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดแผ่นดินไหวเช่นกัน คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2143 (ค.ศ. 2100) ระดับน้ำทะเลอาจสูงขึ้นถึง 0.8 เมตร ซึ่งน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นนี้จะสร้างแรงกดทับเพิ่มเติมต่อแผ่นเปลือกโลกที่อยู่ในและรอบมหาสมุทรแปซิฟิก โดยเฉพาะบริเวณ "วงแหวนแห่งไฟ" (Ring of Fire) ซึ่งเป็นแนวที่มีภูเขาไฟและรอยเลื่อนเปลือกโลกจำนวนมาก โดยพื้นที่วงแหวนแห่งไฟนี้มีความยาวถึง 40,000 กิโลเมตร ครอบคลุมกว่า 31 ประเทศ และมีภูเขาไฟกว่า 452 ลูก โดยประมาณ 75% ยังคงปะทุอยู่ในปัจจุบัน

 

แรงกดทับจากมวลน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นจะทำให้เกิดการสะสมความเครียดใต้เปลือกโลก หากมีการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกหรือเกิดรอยแยกขนาดใหญ่ จะมีการปลดปล่อยพลังงานออกมาในระดับมหาศาล จนอาจนำไปสู่แผ่นดินไหวรุนแรงและเกิดสึนามิ ซึ่งมักเกิดขึ้นเป็นรอบ ๆ ห่างกันราว 80 ปี

ประเทศที่มีความเสี่ยงสูงจากแผ่นดินไหวและภูเขาไฟในวงแหวนแห่งไฟ ได้แก่ สหรัฐอเมริกาฝั่งตะวันตก ชิลี ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เม็กซิโก รัสเซีย แคนาดา กัวเตมาลา และหมู่เกาะโซโลมอน รวมถึงภูมิภาคอื่น ๆ ที่อยู่รอบมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งมักประสบกับแผ่นดินไหวขนาดเล็กอยู่บ่อยครั้ง และมีความเสี่ยงต่อแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในอนาคต

 

ตัวอย่างสำคัญคือ ภูเขาไฟฟูจิ (Mount Fuji) ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งแม้จะไม่ได้ปะทุอย่างรุนแรงมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1707 แต่ยังคงถือเป็นภูเขาไฟที่มีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอด และมีความเกี่ยวข้องกับการเกิดแผ่นดินไหวในญี่ปุ่นหลายครั้งในประวัติศาสตร์

 

เมื่อพิจารณาภาพรวมจะพบว่า ภาวะโลกร้อนไม่เพียงแต่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศเท่านั้น แต่ยังเป็นภัยเงียบที่เชื่อมโยงกับภัยธรรมชาติร้ายแรงอย่างแผ่นดินไหวและสึนามิอีกด้วย ดังนั้น ความร่วมมือกันในการลดโลกร้อน จึงไม่ใช่แค่การปกป้องโลกจากอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นการลดโอกาสในการเกิดหายนะที่อาจคร่าชีวิตผู้คนนับล้านในอนาคต

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง