รีเซต

โกลเบล็ก หวั่นการเมืองยืดเยื้อ-รุนแรง กดดันดัชนีหุ้นอาจหลุด1,200 จุด

โกลเบล็ก หวั่นการเมืองยืดเยื้อ-รุนแรง กดดันดัชนีหุ้นอาจหลุด1,200 จุด
มติชน
28 กันยายน 2563 ( 08:56 )
50

คลุกวงหุ้น : “โกลเบล็ก” มองหุ้นไทยถูกกดดันหนัก หวั่นการเมืองยืดเยื้อ-รุนแรง ฉุดดัชนีหลุด 1,200 จุด

 

นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด เปิดเผยในรายการคลุกวงหุ้นว่า ภาพรวมตลาดหุ้นประจำสัปดาห์นี้ เป็นช่วงปลายเดือนกันยายน ทำให้มีลุ้นว่า จะมีการทำวินโดวเดรสซิง (Window dressing) หรือการทำตัวเลขทางบัญชีให้ดูดีขึ้น โดยนักลงทุนสถาบัน กองทุน และบริษัทที่ลงทุนในหุ้น จะทำการซื้อเพื่อดันราคาหุ้น ให้หุ้นมีราคาปิดที่สูงขึ้นออกมา ซึ่งต้องลุ้นว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ รวมถึงตลาดหุ้นไทยยังมีปัจจัยเฉพาะกดดัน ได้แก่ การชุมนุมแสดงออกทางการเมือง เนื่องจากหากข้ามไปถึงเดือนตุลาคมนี้ จะมีการแสดงออกทางการเมือง ซึ่งเปรียบเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการร่วมชุมนุม จึงมองว่าจะเป็นแรงกดดันการปรับระดับขึ้นของดัชนีหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง ส่วนสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง จะส่งผลกดดันให้ดัชนีหุ้นไทยปรับระดับลดลงหลุด 1,200 จุดหรือไม่ ต้องอ้างอิงการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 19 กันยายน ที่ผ่านมา ซึ่งการชุมนุมดังกล่าวสามารถจบลงได้รวดเร็ว ไม่มีความยืดเยื้อ และไม่มีความรุนแรง ทำให้หากการชุมนุมแสดงออกทางการเมือง ยังอยู่ในลักษณะดังกล่าวต่อไป ผลกระทบต่อตลาดหุ้น น่าจะไม่ถึงขั้นทำให้ดัชนีหุ้นหลุดระดับ 1,200 จุด แต่หากมีความรุนแรงหรือยืดเยื้อมากขึ้น จะเป็นความเสี่ยงที่ไม่แน่นอนต่อไป

 

นางสาววิลาสินี กล่าวว่า สำหรับปัจจัยต่างประเทศ ที่ต้องติดตาม เป็นแนวโน้มราคาน้ำมันดิบ ซึ่งในสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันปรับลดลงต่ำกว่าระดับ 40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยเป็นผลมาจากแรงกดดันที่เกิดการระบาดโควิด-19 ระลอก 2 ขึ้นในประเทศโซนยุโรป ซึ่งการระบาดซ้ำของโควิด-19 จะกดดันความต้องการในการใช้น้ำมันมากขึ้น รวมถึงพันธมิตรองค์กรผู้ค้าน้ำมัน (โอเปก) จากเดิมที่มองว่าอาจสามารถควบคุมกำลังการผลิตน้ำมันได้ แต่มีความเสี่ยงจากประเทศลิเบีย ซึ่งเป็นประเทศในแอฟริกาเหนือ ที่อาจผลิตน้ำมันออกมาสู่ตลาดได้มากขึ้น จึงเป็นแรงกดดันทำให้ราคาน้ำมันไม่สามารถยืนเหนือระดับ 40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลได้

 

“ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญที่ต้องติดตาม เป็นตัวเลขของภาคการส่งออกไทย ที่ยังติดลบอย่างต่อเนื่อง รวมถึงค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ซึ่งส่งผลต่อการนำเข้าสินค้าหรือวัตถุดิบจากต่างประเทศ และการปรับประมาณการตัวเลขจีดีพี ที่มีการปรับลดลงของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเป็นแรงกดดันภาพรวมการเติบโตในระยะต่อไป สำหรับกลยุทธ์ที่แนะนำในการลงทุน ถือเป็นโอกาสเข้าซื้อสะสมหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี แต่ให้ทยอยซื้อ เพื่อให้ได้ต้นทุนที่ต่ำสุดจริงๆ” นางสาววิลาสินี กล่าว

 

ส่วนหุ้นเด่นจะเป็นตัวไหน ต้องติดตามในรายการคลุกวงหุ้น!

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง