รีเซต

หรือ Neuralink จะโดนแซง ? หลังคู่แข่งฝังขั้วไฟฟ้าในสมองได้มากกว่าถึง 4 เท่า

หรือ Neuralink จะโดนแซง ? หลังคู่แข่งฝังขั้วไฟฟ้าในสมองได้มากกว่าถึง 4 เท่า
TNN ช่อง16
5 มิถุนายน 2567 ( 13:03 )
24
หรือ Neuralink จะโดนแซง ? หลังคู่แข่งฝังขั้วไฟฟ้าในสมองได้มากกว่าถึง 4 เท่า

ดูเหมือนว่า นิวรัลลิงก์ (Neuralink) บริษัทเทคโนโลยีฝังชิปเชื่อมต่อสมองมนุษย์ของเจ้าพ่อเทคโนโลยีอีลอน มัสก์ (Elon Musk) กำลังจะโดนบริษัทอื่นที่ดำเนินการในด้านอินเทอร์เฟซการทำงานของสมอง (Brain-Computer Interfaces หรือ BCI) ที่ทำงานคล้าย ๆ กันแซงหน้า อย่างเช่น บริษัท พรีซิสชัน นิวโรไซเอนซ์ (Precision Neuroscience) จากสหรัฐฯ ที่ล่าสุดได้ทำลายสถิติโลกในการฝังขั้วไฟฟ้า หรือ อิเล็กโทรด (Electrode) ในสมองของมนุษย์ได้มากถึง 4,096 ชิ้น ซึ่งทำลายสถิติเดิมของบริษัทเอง ที่เคยฝังอิเล็กโทรดได้ 2,048 ชิ้นในปีที่แล้ว ทั้งนี้ จำนวนอิเล็กโทรดที่มากขึ้นทำให้สามารถส่งข้อมูลเข้าและออกจากสมองได้มากขึ้น ส่งผลต่อความสามารถของระบบอินเทอร์เฟซ


สถิติล่าสุดของ Precision Neuroscience ทำสำเร็จในเดือนเมษายน 2024 ในระหว่างการศึกษาที่เครือข่ายโรงพยาบาล ระบบสุขภาพเมาท์ไซนาย (Mount Sinai Health System) ในรัฐนิวยอร์ก จุดเด่นเทคโนโลยีของบริษัท คือได้พัฒนาสิ่งที่เรียกว่า เลเยอร์ 7 คอร์ติคอล อินเทอร์เฟส (Layer 7 Cortical Interface) ซึ่งเป็นไมโครอิเล็กโทรดแบบฟิล์มบางมาก ๆ จึงสามารถเพิ่มความหนาแน่นของอิเล็กโทรดได้


โดยทีมงานได้วางอาร์เรย์ไมโครอิเล็กโทรดจำนวน 4 ชุด ลงบนพื้นผิวสมองของผู้ป่วย ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 8 ตารางเซนติเมตร หรือก็คือเทียบเท่ากระดาษโน๊ตขนาดเล็ก ๆ อาร์เรย์แต่ละชุดประกอบด้วยอิเล็กโทรด 1,024 ชิ้น รวมเป็น 4,096 ชิ้น ซึ่งแต่ละชิ้นมีเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 50 ถึง 380 ไมครอน เชื่อมต่อกับฮาร์ดแวร์ของบริษัท 


หลักการทำงาน เมื่อสมองเริ่มประมวลผลข้อมูล สมองจะสร้างสัญญาณไฟฟ้า ซึ่งเทคโนโลยี Layer 7 Cortical Interface ของบริษัทก็จะสามารถจับสัญญาณเหล่านี้ได้ในระดับไมครอน ทำให้สามารถมองเห็นการทำงานของสมองได้อย่างละเอียด ซึ่งเว็บไซต์ Interesting Engineering ได้เปรียบเทียบว่าคล้ายกับการเปลี่ยนความละเอียดของโทรทัศน์ขนาดมาตรฐาน ไปเป็นโทรทัศน์ที่มีความคมชัดสูง


ส่วนชิปสมองของนิวรัลลิงก์ที่เพิ่งทดลองฝังในสมองมนุษย์คนแรกไปเมื่อปลายเดือนมกราคม 2024 มีรายละเอียดเทคโนโลยีแตกต่างกันเล็กน้อย โดยใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า N1 โดยจะเป็นชิปขนาดประมาณเหรียญ 10 บาทไทย มีสายต่าง ๆ ที่มีความยืดหยุ่น และบางกว่าเส้นผมของมนุษย์ จำนวน 64 เส้น มีอิเล็กโทรดทั้งหมด 1,024 ชิ้น หรือก็คือนิวรัลลิงค์มีอิเล็กโทรดน้อยกว่า Precision Neuroscience 4 เท่า 


ทั้งนี้ บริษัท Precision Neuroscience ก่อตั้งขึ้นในปี 2021 โดยทีมงาน 4 คน ซึ่ง 3 คนในนี้เคยทำงานที่ Neuralink มาก่อน ปัจจุบัน Precision Neuroscience ยังถือว่าอยู่ในขั้นตอนการทดลองและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และหวังว่าจะสามารถนำผลิตภัณฑ์ออกเผยแพร่เชิงพาณิชย์สู่สาธารณะได้ภายในปี 2025 หรือก็คือปีหน้านี้เอง


เบน ราโพพอร์ท (Ben Rapoport) หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง กล่าวถึงความสำเร็จครั้งนี้ว่า “สถิตินี้เป็นก้าวสำคัญสู่ยุคใหม่ ความสามารถในการรวบรวมข้อมูลเยื่อหุ้มสมองขนาดนี้ สามารถช่วยให้เราเข้าใจสมองได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น”


ที่มาข้อมูล InterestingEngineering, Iflscience

ที่มารูปภาพ PrecisionNeuro

ข่าวที่เกี่ยวข้อง