รีเซต

เปิดตัวเรือโจมตีทางทะเลอัตโนมัติ Bengal MC บรรทุกน้ำหนัก 40 ตัน ล้ำหน้าที่สุดในโลก

เปิดตัวเรือโจมตีทางทะเลอัตโนมัติ Bengal MC บรรทุกน้ำหนัก 40 ตัน ล้ำหน้าที่สุดในโลก
TNN ช่อง16
28 เมษายน 2568 ( 14:37 )
7

บริษัท ยูเรกา นาวัล คราฟต์ (Eureka Naval Craft) เปิดตัวเบงกอล เอ็มซี (Bengal MC) เรือโจมตีทางทะเลอัตโนมัติที่ล้ำหน้าที่สุดในโลก ด้วยขีดความสามารถบรรทุกน้ำหนัก 40 ตัน เดินทางได้ด้วยความเร็วสูงสุดถึง 50 น็อต หรือ 92 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

เรือเบงกอล เอ็มซี (Bengal MC) สะท้อนการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในวงการเรือรบ เมื่อช่องว่างระหว่างเรือแบบมีลูกเรือและเรืออัตโนมัติเริ่มเลือนลางลง โดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI จากบริษัท กรีนรูม โรโบติกส์ (Greenroom Robotics) ในการขับเคลื่อนระบบอัตโนมัติ และมีโครงสร้างแบบโมดูลาร์ที่สามารถปรับแต่งได้ตามภารกิจ ทั้งในฐานะเรือโจมตีอัตโนมัติ เรือขนส่งกำลังพล เรือสนับสนุนการขึ้นบก แพลตฟอร์มสงครามอิเล็กทรอนิกส์ เรือแม่โดรน เรือวางทุ่นระเบิด หรือเรือล่าทุ่นระเบิด

ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา โดรนบินได้มีวิวัฒนาการจากเครื่องบินใบพัดติดกล้องธรรมดา กลายเป็นแพลตฟอร์มอเนกประสงค์ที่มีความสามารถหลากหลาย เช่นเดียวกัน เรือรบไร้คนขับก็กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในลักษณะคล้ายกัน โดยครั้งหนึ่งการสร้างเรือเล็กที่สามารถควบคุมด้วยรีโมทคอนโทรลได้ภายในเวลา 9 วัน เคยถือเป็นเรื่องมหัศจรรย์ ทว่าวันนี้ มีการทดสอบเรือหุ่นยนต์ที่ใช้สำหรับการลาดตระเวนต่อต้านเรือดำน้ำ การล่าทุ่นระเบิด และแม้แต่เรือดำน้ำไร้ลูกเรือ

การออกแบบตัวเรือเป็นแบบ SES (Surface Effect Ship) ซึ่งผสมผสานคุณสมบัติของเรือโฮเวอร์คราฟต์และเรือสองลำตัว ช่วยลดแรงเสียดทานจากน้ำและเพิ่มความเร็วได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งมีระยะปฏิบัติการไกลถึง 1,000 ไมล์ทะเล หรือ 1,852 กิโลเมตร

โบ จาร์ดีน (Bo Jardine) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของยูเรกา นาวัล คราฟต์ กล่าวว่า "เราตื่นเต้นอย่างยิ่งกับการเปิดตัว AIRCAT Bengal MC เรือลำนี้สามารถเดินทางด้วยความเร็วสูงทั้งแบบมีลูกเรือและไม่มีลูกเรือ มีพลังทำลายล้างสูง รองรับการยิงขีปนาวุธร่อน Tomahawk และขีปนาวุธโจมตีเรือ NSM อีกทั้งยังเป็นทางเลือกที่มีต้นทุนคุ้มค่ากว่าเรือคอร์เวตต์หรือเรือฟริเกตทั่วไป ด้วยโครงสร้างโมดูลาร์ที่ลดค่าใช้จ่ายในการผลิตและซ่อมบำรุงอย่างมีนัยสำคัญ"

ด้วยความสามารถที่ครอบคลุม และต้นทุนการดำเนินงานที่ต่ำกว่าเบงกอล เอ็มซี (Bengal MC) จึงกลายเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับกองทัพเรือที่ต้องการเพิ่มขีดความสามารถเชิงยุทธศาสตร์โดยไม่ต้องพึ่งพาเรือรบขนาดใหญ่ที่มีต้นทุนสูง

ขณะนี้ยังไม่มีการเปิดเผยราคาจำหน่ายของเรือรบอัตโนมัติ AIRCAT Bengal MC จากบริษัท ยูรีกา เนเวิล คราฟต์ (Eureka Naval Craft) อย่างเป็นทางการ  อย่างไรก็ตาม เรือรุ่นนี้ได้เปิดตัวครั้งแรกในงาน Sea-Air-Space Exhibition ที่รัฐแมริแลนด์ สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 6–9 เมษายน 2025 โดยบริษัท ยูรีกา เนเวิล คราฟต์ (Eureka Naval Craft) มีแผนที่จะนำเสนอเรือลำนี้ให้กับกองทัพเรือสหรัฐฯ นาวิกโยธินสหรัฐฯ และกองทัพเรือพันธมิตร รวมถึงประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เวียดนาม ไทย และฟิลิปปินส์

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง