รีเซต

นักวิทย์พบน้ำแข็งบนภูเขาดาวอังคาร ! อาจนำไปสู่การไขความลับอื่น ๆ รวมถึงตามหาแหล่งน้ำ

นักวิทย์พบน้ำแข็งบนภูเขาดาวอังคาร ! อาจนำไปสู่การไขความลับอื่น ๆ รวมถึงตามหาแหล่งน้ำ
TNN ช่อง16
14 มิถุนายน 2567 ( 08:17 )
39

นักวิทยาศาสตร์นานาชาติได้ค้นพบการก่อตัวของน้ำแข็งบนยอดของภูเขาไฟที่สูงที่สุดในระบบสุริยะ ซึ่งตั้งอยู่บนดาวอังคาร โดยนักวิทยาศาสตร์ไม่คาดคิดว่ามันจะสามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากมีปัจจัยที่ไม่เอื้อต่อการเกิด คาดว่าการพบครั้งนี้ อาจนำไปสู่การไขความลับบางอย่างของดาวอังคารได้


บริเวณที่พบน้ำแข็งนั้นคือภูมิภาคที่ชื่อ ธาร์ซิส (Tharsis region) ใกล้เส้นศูนย์สูตรของดาวอังคาร บริเวณนี้เป็นที่ตั้งของภูเขาไฟขนาดใหญ่ เช่น ธาร์ซิส มอนเตส (Tharsis Montes ประกอบด้วยภูเขาไฟ 3 ลูก คือ แอสเครอุส (Ascraeus) พาโวนิส (Pavonis) และอาร์เซีย (Arsia)) รวมถึงภูเขาไฟที่สูงที่สุดในระบบสุริยะอย่างภูเขาไฟโอลิมปัส (Olympus Mons) ซึ่งมีความสูงถึง 21.9 กิโลเมตร โดยเหตุผลที่มันไม่น่าเกิดน้ำแข็งบนยอดเขาได้ นั่นก็เพราะมีชั้นบรรยากาศที่บางเบามากและแทบจะไม่มีความชื้นอยู่เลย รวมถึงมีแสงแดดที่ส่องลงมา ดังนั้นมันจึงเป็นไปได้ยากมากที่จะทำให้เกิดน้ำแข็งได้


แต่การศึกษาล่าสุด นักวิทยาศาสตร์ได้รับภาพความละเอียดสูงจากยานอวกาศ เทรซ แก๊ส ออบิเตอร์ (Trace Gas Orbiter) ขององค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency หรือ ESC) พบหลักฐานที่ชัดเจนของการก่อตัวของน้ำค้างแข็งในช่วงเวลาเช้าตรู่ของปล่องภูเขาไฟที่มีอายุราว 3,500 ล้านปีนี้




ESA เผยว่า นักวิทยาศาสตร์ไม่เคยเห็นน้ำแข็งบนปากปล่องภูเขาไฟนี้มาก่อน เนื่องจากมันจะก่อตัวเฉพาะในเดือนที่หนาวที่สุดบนดาวอังคาร และจะเกิดขึ้นแค่ในตอนเช้าตรู่เท่านั้น แต่นักวิทยาศาสตร์มักจะถ่ายรูปดาวอังคารในตอนบ่าย เนื่องจากจะทำให้ได้ภาพที่ดีที่สุด ซึ่งตอนนั้นน้ำแข็งก็ละลายหมดแล้ว


ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า น้ำแข็งที่ปรากฏนี้มีความหนาประมาณ 1 ไมโครเมตรเท่านั้น แต่เนื่องจากกินพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง จึงคาดการณ์ว่ามันอาจมีน้ำหนักอย่างน้อย 1.5 แสนตัน นั่นแปลว่าเพียงพอที่จะเอาไปเติมลงในสระว่ายน้ำโอลิมปิกได้ประมาณ 60 สระ


แล้วการเกิดน้ำแข็งบนยอดภูเขาดาวอังคารเกิดขึ้นได้อย่างไร นิโคลัส โธมัส (Nicolas Thomas) ผู้นำร่วมของการศึกษาวิจัยกล่าวว่า “ลมพัดเอาความชื้นจากพื้นที่ต่ำ ขึ้นมายังบริเวณที่สูงกว่าตามทางลาดชันของภูเขา บริเวณที่สูงจะมีอุณหภูมิต่ำกว่า ทำให้ความชื้นควบแน่นแล้วตกลงมาเป็นน้ำแข็ง ซึ่งปรากฏการณ์แบบนี้เกิดขึ้นบนส่วนอื่น ๆ ของดาวอังคารด้วย เช่น การเกิดเมฆที่มีลักษณะยาว ชื่อ Arsia Mons Elongated Cloud”


ปรากฏการณ์นี้ไม่เพียงแต่มีความสำคัญในแง่ของอุตุนิยมวิทยาเท่านั้น แต่ยังช่วยให้มนุษย์เราเข้าใจความลึกลับต่าง ๆ ของดาวอังคารได้มากขึ้น ซึ่งก็อาจจะนำไปสู่การค้นหาบริเวณที่อาจพบน้ำบนดาวอังคาร วิธีการไหลของน้ำ รวมถึงสภาพอากาศของดาวอังคารในรอบหลายพันปีที่ผ่านมา


อะโดมัส วาเลนตินาส (Adomas Valantinas) ผู้นำการศึกษาครั้งนี้กล่าวว่า “เราคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่น้ำแข็งจะเกิดขึ้นรอบเส้นศูนย์สูตรของดาวอังคาร เนื่องจากแสงแดดและบรรยากาศบางๆ ผสมกันทำให้อุณหภูมิค่อนข้างสูงทั้งบนพื้นผิวและยอดเขา ทั้งนี้สิ่งที่เราเห็นอาจเป็นเรื่องปกติของสภาพอากาศโบราณของดาวอังคารก็ได้ ซึ่งในอดีตอาจมีฝนหรืออาจมีหิมะตกบนภูเขาไฟ ปรากฏการณ์นี้น่าตื่นเต้นมาก เพราะมันบอกเป็นนัยว่ามีกระบวนการพิเศษกำลังเกิดขึ้น”



ที่มาข้อมูล NewAtlasESA

ที่มารูปภาพ ESA


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง