"รถป้ายแดง"ต้องรู้! ครม.เคาะกม.กำหนดใบอนุญาต-คู่มือรถ มีอายุกี่ปีเช็กที่นี่
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 18 ก.ค.2565 ได้เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการออกใบอนุญาตขับรถยนต์หรือให้ผู้อื่นขับรถยนต์ที่มีไว้เพื่อขายหรือเพื่อซ่อม และกำหนดแบบใบอนุญาตสมุดคู่มือประจำรถ และลักษณะเครื่องหมายพิเศษ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ
โดยร่างกฎกระทรวงฯ มีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการออกใบอนุญาตขับรถยนต์หรือให้ผู้อื่นขับรถยนต์ที่มีไว้เพื่อขายหรือเพื่อซ่อม โดยกำหนดอายุของใบอนุญาตและเงื่อนไขให้ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องรายงานการใช้เครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดง) ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งปรับปรุงแบบใบอนุญาตคู่มือประจำรถและลักษณะเครื่องหมายพิเศษเพื่อให้ทางราชการสามารถควบคุม กำกับ ดูแลการใช้เครื่องหมายพิเศษ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถลดปัญหาการหลีกเลี่ยงการใช้รถโดยไม่จดทะเบียน
รายละเอียดการปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวง ประกอบด้วย
1. กำหนดอายุของใบอนุญาต สมุดคู่มือประจำรถและเครื่องหมายพิเศษให้ชัดเจน (จากเดิมไม่ได้กำหนดไว้) โดยกำหนดให้ใบอนุญาต (ใบอนุญาตขับรถยนต์หรือให้ผู้อื่นขับรถยนต์ที่มีไว้เพื่อขายหรือเพื่อซ่อม) คู่มือประจำรถ(ที่นายทะเบียนออกให้แก่ผู้ได้รับอนุญาต) และเครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดงที่นายทะเบียนออกแก่ผู้ได้รับใบอนุญาต) มีอายุ 5 ปี นับแต่วันออกใบอนุญาต
2. กำหนดสถานที่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ชัดเจน (จากเดิมไม่กำหนดไว้) โดยให้ผู้ที่มีรถยนต์ไว้เพื่อขายหรือเพื่อซ่อม ถ้าจะขับเองหรือให้ผู้อื่นขับ ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่อนายทะเบียนแห่งท้องที่ซึ่งสถานประกอบกิจการนั้นตั้งอยู่ ทั้งนี้ สามารถยื่นคำขอรับใบอนุญาตทางอิเล็กทรอนิกส์ตามที่กรมขนส่งทางบกกำหนดได้
3. การปรับปรุงใบอนุญาต สมุดคู่มือประจำรถและลักษณะเครื่องหมายพิเศษ ให้เป็นปัจจุบัน และมีความชัดเจนยิ่งขึ้น และกำหนดให้ในการออกใบอนุญาตให้นายทะเบียนออกเครื่องหมายพิเศษหนึ่งคู่ซึ่งมีหมายเลขเดียวกันและสมุดคู่มือประจำรถ โดยมีรายละเอียด
3.1) แบบใบอนุญาตขับรถยนต์หรือให้ผู้อื่นขับรถยนต์ที่มีไว้เพื่อขายหรือเพื่อซ่อม มีการเพิ่มข้อมูลเลขบัตรประจำตัวประชาชนหรือเลขทะเบียนนิติบุคคลและอีเมลของผู้ได้ใบอนุญาต ระบุวันสิ้นสุดอายุใบอนุญาตไว้อย่างชัดเจน รวมทั้งตรากรมการขนส่งทางบกเป็นพื้นหลังใบอนุญาต
3.2) สมุดคู่มือประจำรถ เพิ่มคิวอาร์โค้ด เพื่อให้สามารถตรวจสอบว่ากรมการขนส่งทางบกเป็นผู้ออกสมุดคู่มือประจำรถนั้นๆ
3.3) ลักษณะเครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดง) ปรับขนาดแผ่นป้ายให้มีขนาดกว้าง 15 ซม. ยาว 30 ซม. (เดิม 34 ซม.) และแผ่นป้ายแบบใหม่จะแบ่งเป็น 3 บรรทัด จากเดิม 2 บรรทัด โดยบรรทัดที่ 1 ประกอบด้วยตัวเลขประจำหมวดตัวที่ 1 ตัวอักษรประจำหมวดตัวที่ 2 และหมายเลขทะเบียนไม่เกิน 4 หลัก (เดิมประกอบด้วยตัวอักษรบอกหมวด ขีดตามทางยาวและตามด้วยตัวเลข) บรรทัดที่ 2 เป็นตัวอักษรบอกชื่อจังหวัด เว้นแต่กรณี อำเภอเบตง จังหวัดยะลาให้ใช้คำว่า เบตง และบรรทัดที่ 3 เป็นตัวอักษา "เพื่อขายหรือซ่อม"
4. กำหนดเงื่อนไขการใช้และการรายงานข้อมูลการใช้เครื่องหมายพิเศษของผู้ได้รับใบอนุญาตต้องปฏิบัติ ได้แก่
4.1) ติดเครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดง) ที่ด้านหน้าและท้ายรถด้านละ 1 แผ่นให้สามารถมองเห็นชัดเจน
4.2) จัดทำรายงานการใช้เครื่องหมายพิเศษในระบบอิเล็กทรอนิกส์ทุกครั้งที่มีการหมุนเวียนไปใช้กับคันอื่น ตามที่กรมขนส่งทางบกกำหนด โดยหากผู้รับใบอนุญาตไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขนายทะเบียนมีอำนาจพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตได้
5. การขอใบอนุญาต กรณีใบอนุญาตเดิมสิ้นอายุ ให้ยื่นคำขอพร้อมหลักฐานล่วงหน้าไม่เกิน 3 เดือน ก่อนวันที่ใบอนุญาตเดิมสิ้นสุด โดยในการพิจารณาต่อใบอนุญาตนายทะเบียนต้องตรวจสอบว่าผู้ยื่นคำขอได้จัดทำรายงานการใช้เครื่องหมายพิเศษในระบบอิเล็กทรอนิกส์ทุกครั้งที่มีการหมุนเวียนไว้กับรถคันอื่นหรือไม่
6. กำหนดเหตุที่ใบอนุญาตสิ้นสุดตามกรณี ดังต่อไปนี้
6.1) ใบอนุญาตครบ 5 ปี นับแต่วันออกใบอนุญาต
6.2) ผู้ได้รับอนุญาตตายหรือสิ้นสภาพนิติบุคคล
6.3) ผู้ได้รับอนุญาตเลิกประกอบกิจการ
6.4) กรมขนส่งทางบกเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งในกรณีที่ใบอนุญาตสิ้นสุด ผู้ได้รับอนุญาตต้องคืนใบอนุญาต เครื่องหมายพิเศษและสมุดคู่มือประจำรถภายใน 15 วันนับแต่วันที่ใบอนุญาตสิ้นสุด
7. กำหนดเงื่อนไขการขอใบแทน ใบอนุญาต สมุดคู่มือประจำรถและเครื่องหมายพิเศษ กรณีสูญหายหรือชำรุดในสาระสำคัญ โดยกำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตยื่นคำต่อนายทะเบียนภายใน 15 วันนับแต่วันทราบการสูญหายหรือชำรุด
8. บทเฉพาะการกำหนดให้บรรดาใบอนุญาต สมุดคู่มือประจำรถและเครื่องหมายที่จัดทำไว้แล้วก่อนวันที่กฎกระทรวงมีผลบังคับ ซึ่งนายทะเบียนจะออกให้หรือได้ออกให้แล้วแก่ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้ได้ต่อไปไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ
ที่มา เว็บรัฐบาล
ภาพจาก TNN Online / ขนส่งฯ