รีเซต

นักวิจัยเผย ทุ่งน้ำแข็งทุนดราในรัสเซีย อาจหายไปในอีก 500 ปี พร้อมปลดปล่อยคาร์บอนมหาศาล

นักวิจัยเผย ทุ่งน้ำแข็งทุนดราในรัสเซีย อาจหายไปในอีก 500 ปี พร้อมปลดปล่อยคาร์บอนมหาศาล
TNN ช่อง16
9 มิถุนายน 2565 ( 15:58 )
155

ย้อนกลับไปในเดือนกันยายนปี 2020 มีรายงานว่า ทุ่งน้ำแข็งทุนดราไซบีเรียทางตะวันตกเฉียงเหนือของรัสเซีย เกิดระเบิดออกจนเกิดหลุมกว้าง 165 ฟุต (50 เมตร) ในบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของพื้นที่ที่ถือว่าเป็นพื้นที่หนาวที่สุดในโลก

หลุมระเบิดขนาดใหญ่เหมือนอุกกาบาตพุ่งชนโลกนี้ กลายเป็นสัญญาณล่าสุดของฤดูร้อนที่ร้อนเป็นพิเศษของไซบีเรีย ซึ่งเกิดจากภาวะโลกร้อน โดยเกิดจากแก๊สมีเทนและคาร์บอนที่สะสมอยู่ใต้ทุ่งน้ำแข็งที่เกิดละลาย และรั่วไหลออกมาจนกระทั่งระเบิดออก

และขณะนี้ มีรายงานฉบับใหม่ที่เผยว่า ภายใน ค.ศ. 2500 ทุ่งน้ำแข็งทุนดราในไซบีเรียอาจหายไปอย่างสิ้นเชิง หากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังไม่อยู่ในการควบคุม และทุ่งน้ำแข็งเหล่านี้ก็จะค่อยๆ กลายเป็นป่าไป 

ที่แย่กว่านั้นคือ ในขณะที่ชั้นดินเยือกแข็งของทุนดราละลายหายไป มันสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เก็บไว้จำนวนมากถึง 1,400 กิกะตัน เข้าสู่ชั้นบรรยากาศทั่วโลก ทำให้สภาวะโลกร้อนยิ่งแย่ลงไปอีก


สเตฟาน ครูส (Stefan Kruse) นักนิเวศวิทยาและผู้สร้างแบบจำลองป่าไม้แห่งสถาบันอัลเฟรด วีเกอเนอร์ (AWI) เพื่อการวิจัยขั้วโลกและทางทะเลในเมือง Bremerhaven ประเทศเยอรมนี เผยกับเว็บไซต์ WordsSideKick.com ว่า "มันน่าทึ่งมากสำหรับเรา ที่เห็นว่าทุ่งน้ำแข็งทุนดราจะถูกเปลี่ยนเป็นป่าได้เร็วแค่ไหน"


ครูส และเพื่อนร่วมงานของเขา ศาสตราจารย์ อูลริค เฮอร์สชู (Ulrike Herzschuh) ของสถาบัน AWI ได้พัฒนาแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ ที่สามารถตรวจสอบวิวัฒนาการของทุ่งทุนดราในไซบีเรียอย่างถี่ถ้วน โดยโมเดลนี้จะช่วยประเมินว่าต้นไม้เติบโตและพัฒนาในภูมิภาคดังกล่าวได้อย่างไรบ้าง


โมเดลดังกล่าว จะวิเคราะห์ถึงวงจรชีวิตทั้งหมดของต้นไม้ ตั้งแต่เมื่อแรกผลิตออกจากเมล็ด ไปจนถึงเมื่อเติบโตเป็นต้นไม้ที่โตเต็มวัย มันยังช่วยประเมินว่าต้นไม้เหล่านี้ ต่อสู้กับพรรณไม้อื่น ๆ และจัดการกับความแตกต่างของอุณหภูมิและปริมาณน้ำฝนอย่างไรบ้าง


นักวิจัยสรุปว่า ต้นไม้จะเริ่มเติบโตในพื้นที่ทางเหนือเพื่อตอบสนองต่อภาวะโลกร้อน และจะเติบโตอย่างรวดเร็วโดยไม่กลับไปเป็นทุ่งร้างอีก แม้ว่าอุณหภูมิจะลดลงอีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลให้ทุ่งน้ำแข็งทุนดราถูกแยกออกเป็นสองส่วน จากอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง และแม้ว่ามนุษยชาติสามารถทำให้อุณหภูมิเย็นลงได้หลังจากที่ทุ่งน้ำแข็งทุนดรากลายเป็นป่าไปแล้ว พวกเขาค้นพบว่าแนวต้นไม้จะคงอยู่อย่างที่เป็น ไม่ถอยกลับลงไป เนื่องจากต้นไม้ที่โตเต็มวัยสามารถทนทานต่ออุณหภูมิที่แตกต่างได้อย่างมั่นคงในที่ที่มันเติบโตขึ้นมา


การแยกทุนดราออกเป็นสองส่วนจะส่งผลกระทบต่อกวางเรนเดียร์ที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคนี้ และยังสร้างความสั่นสะเทือนไปยังวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองที่ล่ากวางเป็นอาหาร เช่น ชาวเนเน็ตส์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของไซบีเรีย สัตว์เหล่านี้มักอพยพจากเหนือลงใต้และกลับมาอีกครั้งในทุก ๆ ปี


ทั้งนี้ยังคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมว่า การขยายตัวของแนวป่าจะส่งผลกระทบต่อรูปแบบการอพยพและวงจรชีวิตของกวางเรนเดียร์ รวมถึงจะสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อการดำรงชีวิตของชนเผ่าเนเน็ตส์อย่างไรบ้าง 


ครูสกล่าวเพิ่มเติมว่าวัฒนธรรมของชนเผ่าเนเน็ตส์ ขึ้นอยู่กับทุ่งน้ำแข็งทุนดรา “หากทุ่งหายไป มันจะเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่สำหรับมนุษยชาติ” พวกเขากล่าวเสริม และหากมีคำถามว่า มนุษย์จะทำอะไรได้บ้างเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบเหล่านี้ 

"ทางเลือกที่ดีที่สุดคือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกเพื่อลดความดัน แต่ถ้าเราไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เราต้องอนุรักษ์เผ่าพันธุ์สัตว์ที่ได้รับผลกระทบไว้ในพื้นที่ควบคุม" ครูสกล่าวกับเว็บไซต์ Live Science 

ที่มาของข้อมูล interestingengineering.com

ที่มาของรูปภาพ Александр Максин

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง