คนไทย 4.3 ล้านคนต่อปี ต้องการรับบริการสุขภาพจิต แต่มีเพียง 2.8–3 ล้านคน ที่สามารถเข้าถึงบริการได้

กรมสุขภาพจิตเผย ประชาชน 4.3 ล้านคนต่อปี ต้องการรับบริการสุขภาพจิต แต่มีเพียง 2.8–3 ล้านคนเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงบริการ เร่งขับเคลื่อนระบบบริการสุขภาพจิตและสารเสพติด ผ่านกลไก Service Plan ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนทุกกลุ่มวัย
กรมสุขภาพจิต เร่งขับเคลื่อนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตและสารเสพติด เพิ่มการเข้าถึงบริการของประชาชนทุกกลุ่มวัยอย่างทั่วถึง โดยเน้นพัฒนานวัตกรรมการรักษาและบูรณาการความร่วมมือกับครอบครัว ชุมชน และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อเสริมสร้างระบบดูแลสุขภาพจิตที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนในระยะยาว
นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สถานการณ์สุขภาพจิตของประเทศไทยในปัจจุบันมีความซับซ้อนและทวีความรุนแรง โดยมีประชาชนมากกว่า 4.3 ล้านคนต่อปีที่ต้องการรับบริการสุขภาพจิต แต่มีเพียง 2.8–3 ล้านคนเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงบริการ ขณะเดียวกันพบว่าปัญหาความรุนแรงในสังคมมีความเชื่อมโยงกับปัญหาสุขภาพจิตและการใช้สารเสพติด โดยร้อยละ 40 ของเหตุความรุนแรงมีสาเหตุมาจากผู้ป่วยจิตเวชหรือผู้ใช้สารเสพติด โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชที่มีพฤติกรรมรุนแรงร่วมกับการใช้สารเสพติด (SMI-V) ซึ่งคาดประมาณการณ์ว่าอาจพบสูงถึง 223,253 คน และกว่าครึ่งไม่ให้ความร่วมมือในการรักษา
ด้วยเหตุนี้ กรมสุขภาพจิตจึงเร่งขับเคลื่อนนโยบายตามพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2562 โดยเน้นการส่งเสริม ป้องกัน คุ้มครองสิทธิ และฟื้นฟูสุขภาพจิต โดยปรับเปลี่ยนกรอบแนวคิดจากการกำหนดนโยบายแบบบนลงล่าง สู่การบูรณาการในระดับพื้นที่ผ่านคณะอนุกรรมการสุขภาพจิตระดับจังหวัด เพื่อกำหนดเป้าหมายและวาระสุขภาพจิตให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่
สำหรับมาตรการด้านสุขภาพจิตและยาเสพติด กรมสุขภาพจิตมุ่งเน้นการค้นหากลุ่มเสี่ยงด้วย 5 สัญญานเตือน (ไม่หลับไม่นอน เดินไปเดินมา พูดจาคนเดียว หงุดหงิดฉุนเฉียว เที่ยวหวาดระแวง) เพิ่มเตียงจิตเวชยาเสพติด ใช้นวัตกรรมยาฉีดและคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในการบำบัดรักษา และส่งเสริมการฟื้นฟูโดยชุมชน ส่วนมาตรการป้องกันการฆ่าตัวตาย มุ่งสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังในสถานศึกษาและสถานพยาบาล ส่งเสริมการเลี้ยงดูแบบอ่อนโยน (Gentle Parenting) เพิ่มความครอบคลุมของทีมปฏิบัติการกู้ชีพจากการฆ่าตัวตาย (HOPE Task Force) จัดตั้งศูนย์ให้การปรึกษาสุขภาพจิตในทุกเขตสุขภาพ และพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มต่อเติมใจ เพื่อดูแลประชาชนที่ีมีภาวะเครียดหรือซึมเศร้าอย่างเป็นระบบและยั่งยืน
นายแพทย์จุมภฏ พรมสดีา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2568 กรมสุขภาพจิตมีความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนระบบบริการสุขภาพจิตและสารเสพติดผ่านกลไก Service Plan โดยมุ่งเน้นเพิ่มการเข้าถึงบริการและการดูแลต่อเนื่องผู้ป่วยจิตเวชและสารเสพติดเพื่อป้องกันการก่อความรุนแรงจากการขาดการรักษา โดยให้ความสำคัญกับ 3 บริการหลัก ได้แก่ 1.เพิ่มเตียงรองรับผู้ป่วยจิตเวชสารเสพติดในโรงพยาบาลจิตเวช 102 เตียง ในโรงพยาบาลธัญญารักษ์ 84 เตียง และในโรงพยาบาลศูนย์/ โรงพยาบาลทั่วไป สังกัดสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข 137 เตียง รวมเพิ่มขึ้นทั้งกระทรวง 323 เตียง 2. เปิดบริการหอผู้ป่วยมินิธัญญารักษ์ ครอบคลุม 271 โรงพยาบาลในทุกเขตสุขภาพ 3. เปิดบริการหอผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดที่บ้าน (Psychiatric Home Ward) 19 แห่ง ทำให้ในปัจจุบันมีผู้ได้รับการค้นหาคัดกรองในระบบ V-Care กว่า 80,689 ราย ติดตามรักษาได้กว่า 60,213 ราย อัตราการรักษาต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ 77.23 ผู้ป่่วยจิตเวชยาเสพติดก่อความรุนแรงได้รับยาฉีด ควบคุมอาการต่อเนื่องแล้ว 405 คน
ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิตยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนระบบบริการสุขภาพจิตและสารเสพติดร่วมกับภาคีเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างครอบคลุม เท่าเทียม และปลอดภัย ภายใต้มาตรฐานการดูแลอย่างเป็นระบบและยั่งยืน