Streetwing ยานยนต์บินไฟฟ้าสุดล้ำที่ช่วยลดต้นทุนการบินส่วนบุคคล

ภาพของรถยนต์บินได้มักจะปรากฏขึ้นในห้วงความคิดถึงยุคสมัยแห่งความหวังในเทคโนโลยีล้ำสมัย อย่างไรก็ตาม สำหรับเดซ์โซ โมลนาร์ (Dezső Molnár) นักประดิษฐ์ผู้มีวิสัยทัศน์ชาวอเมริกัน กำลังพัฒนาสตรีทวิง (Streetwing) ยานยนต์ที่สามารถขับบนถนนและบินได้จริง ตอบสนองความต้องการของนักผจญภัยที่ต้องการเดินทางไปยังทุกที่โดยไม่มีข้อจำกัด
โครงการสตรีทวิง (Streetwing) เป็นการสร้างสรรค์ยานพาหนะที่สามารถโลดแล่นบนท้องถนนสาธารณะและทะยานสู่เวหาได้อย่างคล่องแคล่ว เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ที่ปรารถนาจะเดินทางไปถึงจุดหมายอย่างแท้จริง
โดยสตรีทวิง (Streetwing) ได้รับการออกแบบให้มีทั้งแบบที่นั่งเดียวและสองที่นั่ง ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าและน้ำมัน สามารถใช้เดินทางระยะใกล้ และไกลได้ รวมถึงแข่งขันเช่นกัน
แรงบันดาลใจในการออกแบบรถยนต์บินได้รุ่นนี้ของ เดซ์โซ โมลนาร์ (Dezső Molnár) มาจากประสบการณ์การเดินทางของเขาบนทางหลวงแพนอเมริกัน (Pan-American) ซึ่งขณะนั้นติดอุปสรรคการเดินทางที่ช่องแคบดาเรี่ยน (Darién) ซึ่งที่ทุรกันดารเป็นป่าดิบทึบและหนองน้ำที่ไร้ซึ่งถนนหนทาง จึงเป็นแรงบันดาลใจของแนวคิดของยานยนต์ที่สามารถแปลงร่างเป็นเครื่องบินได้
ปัจจุบันยานยนต์ต้นแบบของสตรีทวิง (Streetwing) มีลักษณะคล้ายมอเตอร์ไซค์สามล้อไฟฟ้า เนื่องจากมีสองล้อหน้าและหนึ่งล้อหลัง ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าซีโร่ (Zero) ขนาด 52 กิโลวัตต์สำหรับใบพัดด้านหลัง และมอเตอร์ฮับขนาด 8 กิโลวัตต์สำหรับล้อหลัง ซึ่งเป็นมอเตอร์สำรองที่นำมาใช้ชั่วคราวเพื่อให้ยานยนต์สามารถขับเคลื่อนได้ โดยข้อได้เปรียบของการออกแบบนี้คือล้อขับเคลื่อนด้านหลังแบบตายตัว ซึ่งช่วยลดปัญหาการหมุนควง
โดยเดซ์โซ โมลนาร์ (Dezső Molnár) วางแผนที่จะติดตั้งมอเตอร์จากมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าไลท์นิ่ง สไตร์ค อาร์ (Lightning Strike R) ที่มีสมรรถนะสูงขึ้น คาดว่าจะสามารถเร่งความเร็วจาก 0-161 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ได้ภายในเวลาประมาณ 10 วินาที ก่อนที่ใบพัดจะเริ่มทำงานสำหรับการบิน และยานยนต์นี้จะติดตั้งปีกน้ำหนักเบาขนาด 2.1 เมตร สองชุด ทำให้สตรีทวิง (Streetwing) สามารถเร่งความเร็วบนถนนและทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าได้
อย่างไรก็ตามปัจจุบันปีกเหล่านี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการกำหนดค่า และการทดลอง โดยกำลังพิจารณาวิธีการติดตั้งเข้ากับลำตัวเครื่องบินอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมีแนวคิดอื่น ๆ สำหรับปีก นอกเหนือจากการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ขนาด 7 ตารางเมตร โดยใช้กำลังไฟประมาณ 1,700 วัตต์
อีกทั้งนอกจากนี้ยังมีแนวคิดในการใช้ปีกเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วย โดยปรับเปลี่ยนปีกให้เป็น ใบเรือ ในแนวตั้ง เพื่อรับลมขับเคลื่อน หรือใช้เป็นกังหันลมเพื่อชาร์จแบตเตอรี่ ซึ่งอาศัยแรงลมเพียง 24 กิโลเมตรต่อชั่วโมงสามารถกำเนิดไฟฟ้าได้ขนาด 6,000 วัตต์ ด้วยความสามารถนี้ รถคันนี้จึงมีศักยภาพในการลดต้นทุนการบินลงอย่างมาก จากประมาณ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 3,000 บาทต่อชั่วโมง เหลือใกล้เคียง 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 30 บาทต่อชั่วโมง ซึ่งระบบชาร์จระดับสาม สามารถชาร์จแบตเตอรี่จาก 20% เป็น 80% ได้ภายใน 10 นาที
คาดการณ์ว่ารถคันนี้จะมีน้ำหนักประมาณ 254 กิโลกรัมโดยไม่รวมนักบินหรือแบตเตอรี่ ทำให้มีน้ำหนักบรรทุกเหลือประมาณ 245 กิโลกรัม คาดว่าจะสามารถขับขี่ได้ไกลอย่างน้อย 322 กิโลเมตร หรือบินได้ไกลอย่างน้อย 160 กิโลเมตรก่อนที่จะต้องชาร์จใหม่ และในขณะที่บินจะมีการใช้ระบบควบคุมการบินแบบดั้งเดิม ส่วนบนพื้นดินจะใช้พวงมาลัยมาตรฐาน
ทั้งนี้รถบินได้คันนี้มาพร้อมกับระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าเนื่องจากมีเสียงรบกวนน้อยกว่าเครื่องบินทั่วไป ทำให้สามารถเข้าถึงสนามบินขนาดเล็กได้มากขึ้น อีกทั้งยังมีศักยภาพในการลดต้นทุนการบินลงอย่างมากด้วย
แม้โครงการจะยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาและต้องการเงินทุนสนับสนุนเพิ่มเติม แต่สตรีทวิง (Streetwing) แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของยานยนต์ส่วนบุคคลที่จะปฏิวัติการเดินทางในอนาคต ในเดือนมิถุนายนนี้