รีเซต

จบปีหน้ามาแน่ “แท็กซี่บินได้” จุดเปลี่ยนธุรกิจขนส่งโลก

จบปีหน้ามาแน่ “แท็กซี่บินได้” จุดเปลี่ยนธุรกิจขนส่งโลก
TNN ช่อง16
29 ธันวาคม 2564 ( 18:00 )
152

ตลอดทั้งปีเราได้ยินเกี่ยวกับเทคโนโลยีการขนส่งมามากมาย โดยหนึ่งในเทคโนโลยีขนส่งที่สำคัญและใกล้ตัวเรามาก ๆ ก็คือ Air Taxi หรือแท็กซี่บินได้ ซึ่งเป็นการบรรจบกันของ เทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับ แบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพ และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการผลิตยานยนต์ชั้นสูง จนเกิดเป็นยานยนต์รูปแบบใหม่ ที่อาจจะเข้ามาปฏิวัติวงการ เฮลิคอปเตอร์ เครื่องบิน และรถแท็กซี่ธรรมดา ๆ ได้เลยทีเดียว

ซึ่งส่วนที่แตกต่างจากเฮลิคอปเตอร์หรือเครื่องบิน ก็คือรูปแบบของการบินเพราะ Air Taxi จะใช้การบินขึ้นและลงในแนวดิ่งที่เรียกว่า Electric Vertical Take-Off and Landing หรือ eVTOL ทำให้มันไม่จำเป็นต้องใช้รันเวย์ที่กว้างแบบเครื่องบินทั่วไป และถึงแม้ว่าเฮลิคอปเตอร์จะรับน้ำหนักได้มากกว่าใช้เดินทางได้ไกลกว่า แต่ก็มีเสียงเครื่องยนต์ที่ดัง ใช้พลังงานเชื้อเพลิงมากกว่า และจำเป็นต้องมีนักบิน ในขณะที่ Air Taxi สามารถสั่งบินอัตโนมัติให้ขึ้นและลงจอดตามสถานีที่กำหนดไว้ได้ และหลายรุ่นยังพัฒนาไปไกลถึงขั้น “ไร้คนขับ” ไม่ต้องใช้นักบินควบคุมเลยอีกด้วย ดังนั้น Air Taxi จึงน่าสนใจและตอบโจทย์การคมนาคมขนส่งได้มากกว่านั่นเอง

ความสำคัญของเทคโนโลยีการขนส่งรูปแบบใหม่นี้ถูกตอกย้ำผ่านการสนับสนุนของสองหัวเรือใหญ่ ได้แก่ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ NASA และ องค์การบริหารการบินแห่งชาติ หรือ FAA โดย NASA สนับสนุนทุนการพัฒนาแท็กซี่บินได้ให้กับบริษัทต่าง ๆ รวมทั้งเป็นผู้ร่วมทดสอบ วิจัย เพื่อพัฒนาแท็กซี่บินได้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในขณะที่ FAA ดูแลกฎเกณฑ์การทดสอบแท็กซี่บินได้ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ตั้งไว้ โดยตั้งไฟเขียวให้บริการแท็กซี่บินได้สามารถเริ่มได้ตั้งแต่ปี 2023 เป็นต้นไป


และแน่นอนว่า เมื่อบรรดาประเทศผู้พัฒนาต่าง ๆ เห็นสององค์กรดังเชื่อมั่นและให้การสนับสนุนแท็กซี่บินได้ แต่ละประเทศจึงออกมาลุยพัฒนาแท็กซี่บินได้เพื่อให้ทันต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ ซึ่งคาดว่าตลาดแท็กซี่บินได้ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และโอกาสการจ้างงานที่มากขึ้นด้วยเช่นกัน 


ส่วนอนาคตของแท็กซี่บินได้รุ่งไม่รุ่ง? คำตอบก็สามารถพิจารณาได้จากรายงานของ Morgan Stanley บริษัททางการเงินระดับโลกในสหรัฐอเมริกา คาดว่าธุรกิจ Air Taxi จะไปได้สวยมาก ๆ ในทศวรรษนี้ โดยจะเติบโตถึง 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในปี 2040 นี้


ส่วนทาง Frost & Sullivan บริษัทที่ปรึกษาด้านการวิเคราะห์และวิจัยทางการตลาดว่าภายในปี 2040 นี้จะมีแท็กซี่บินได้เปิดให้บริการมากกว่า 430,000 ลำทั่วโลกเลยทีเดียว จากตัวเลขที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า แท็กซี่บินได้ จะกลายมาเป็นตัวเปลี่ยนเกมธุรกิจการขนส่งในอนาคต ซึ่งตอนนี้ก็มีบริษัทสตาร์ทอัพและแบรนด์ใหญ่ๆ มากมายที่กำลังพัฒนา Air Taxi อย่างแข็งขัน 

เริ่มจากโตโยต้า บริษัทยานยนต์จากญี่ปุ่นที่พวกเราคุ้นหูกันดี จับมือกับสตาร์ทอัพในอเมริกา Joby Aviation พัฒนาแท็กซี่บินได้ จุดเด่นคือมันสามารถบินได้นานถึง 1 ชั่วโมง 17 นาที รวมระยะทาง 154.6 ไมล์ หรือประมาณ 248  กิโลเมตร จากการชาร์ตแบตเพียงแค่หนึ่งครั้ง ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน บินได้มากกว่า 10,000 รอบ ขับด้วยความเร็วสูงสุด 320 กิโลเมตร/ชั่วโมง และจากการพัฒนาและทดสอบการบินร่วมกับ NASA แท็กซี่บินได้รุ่นนี้สามารถลดการสร้างเสียงรบกวนจากใบพัดได้โดดเด่นกว่าเจ้าอื่น ๆ อีกด้วย ซึ่งล่าสุดบริษัทวางแผนให้บริการเชิงพาณิชย์ ภายในปี 2024 นี้

ทางฝั่งจีนก็มีแท็กซี่บินได้ที่เรียกเสียงฮือฮาได้มากทีเดียว โดยเป็นผลงานของ EHang พัฒนา EHang รุ่น EH216 เป็นแท็กซี่บินได้ 2 ที่นั่ง สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ที่ 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ที่ผ่านมาอี้หางได้ทดสอบการโดยสารจริง ๆ มาแล้วในประเทศจีน สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ ดูไบ ยุโรป ฮ่องกง ญี่ปุ่น

Honda ถือว่าเป็นอีกบริษัทผู้นำด้านเทคโนโลยียานยนต์จากญี่ปุ่นที่น่าจับตามอง เพราะในปี 2030 นี้ บริษัทวางแผนที่จะเปิดตัว Honda eVTOL สำหรับใช้งานขนส่งในเมือง และมองไกลไปถึงการใช้งานบนอาณานิคมบนดวงจันทร์และดาวอังคารในอนาคตเลยทีเดียว นับว่าเป็นก้าวสำคัญของบริษัท ที่กำลังมุ่งหน้าสู่การพัฒนายานพาหนะขนส่งรูปแบบใหม่ที่คนทั่วโลกจะได้มีโอกาสใช้กัน

ทางฝั่งเยอรมนี มีแท็กซี่บินได้ชื่อ Volocopter 2X รองรับนักบิน 1 ที่นั่งและผู้โดยสารอีก 1 ที่นั่ง สามารถทำความเร็วได้สูงสุด 110 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีพิสัยการบินอยู่ที่ 35 กิโลเมตร โดย วางแผนเปิดบริการ Urban Air Mobility หรือระบบขนส่งทางอากาศภายในตัวเมืองในระหว่างปี  2023 - 2024 นี้


ตัวอย่างยานยนต์เหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่า แท็กซี่บินได้ คือ ก้าวต่อไปของการคมนาคมที่จะช่วยให้การเดินทางภายในเมืองคล่องตัวขึ้น ที่สำคัญ ยังช่วยลดการปล่อยมลพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยข้อมูลจากทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า แท็กซี่บินได้ที่บรรทุกผู้โดยสารสามคน ปล่อยมลพิษต่ำกว่ารถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยแก๊สถึง 52% และต่ำกว่ารถยนต์ไฟฟ้าถึง 6% 


อย่างไรก็ดี แม้ว่าแท็กซี่บินได้จะมีโอกาสเติบโตที่สูงมาก แต่ความเสี่ยงก็สูงมากเช่นกัน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการรับประกันด้านความปลอดภัย ไปจนถึงการป้องกันระบบไม่ให้โดนแฮก นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของราคา หากผู้พัฒนาสามารถทำราคาค่าโดยสารของแท็กซี่บินได้ให้ใกล้เคียงกับค่าบริการขนส่งสาธารณะอื่น ๆ ได้ก็จะช่วยให้คนทั่วไปเข้าถึงการขนส่งรูปแบบใหม่นี้ได้ง่ายและมีความเป็นสาธารณะมากขึ้น ไม่จำกัดแต่เพียงผู้มีรายได้สูงเท่านั้น


อีกไม่กี่ปี คาดการณ์ว่าการโดยสารด้วยเฮลิคอปเตอร์ หรือแม้กระทั่งเครื่องบินข้ามจังหวัดเอง ก็อาจจะโดน disrupt และจางหายไป เพราะ Air Taxi จะค่อย ๆ เข้ามาปฏิวัติการคมนาคมขนส่งในเมืองให้พลิกโฉมไปจากเดิมได้เลยทีเดียว


ขอบคุณข้อมูลจาก

thevergejobyaviation,  frost,  thequint, bbc, cnbc, irishtimes, newatlas, fortune, tsb, theguardian, govtechalliedmarketresearch

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง