จีนซื้อเทคโนโลยีรถบินได้ “AirCar” จาก KleinVision เตรียมสร้างต่อ
ไม่แน่ว่าเร็ว ๆ นี้เราอาจจะเห็นรถยนต์บินได้จากค่ายสัญชาติจีนเปิดตัวเพิ่มขึ้น หลังมีรายงานว่า ไคลน์วิชั่น (KleinVision) บริษัทผู้พัฒนารถยนต์บินได้ แอร์คาร์ (AirCar) จากประเทศสโลวาเกีย ซึ่งเดิมได้ประสบความสำเร็จในการทดสอบบินในยุโรป ได้ขายเทคโนโลยีดังกล่าวให้กับบริษัทจากประเทศจีน สามารถนำไปใช้พัฒนาและสร้างรถบินได้ของตนเองเรียบร้อยแล้ว
โดยภายใต้ข้อตกลงในการซื้อขายนี้ บริษัท เหอเป่ย เจียนซิน ฟลายอิ้ง คาร์ เทคโนโลยี (Hebei Jianxin Flying Car Technology Company Limited) จะได้รับสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว ในการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงของบริษัทไคลน์วิชั่น ผลิตและจำหน่ายรถยนต์บินได้ที่ผ่านการรับรองภายในประเทศจีน
ทั้งนี้ทางบริษัท ไคลน์วิชั่น (KleinVision) กล่าวว่า ความร่วมมือนี้แสดงให้เห็นถึงก้าวสำคัญในภารกิจของบริษัท ในการขยายการเข้าถึงโซลูชั่นที่ปฏิวัติวงการคมนาคมทั่วโลก โดยขณะนี้บริษัทจีนได้มีการสร้างสนามบินและโรงเรียนการบินของตนเองขึ้นแล้ว และหลังจากการซื้อเทคโนโลยีนี้ ก็จะสามารถเริ่มสร้างรถบินได้ที่ได้รับการรับรองจากบริษัทต่อไป
โดยสำหรับ แอร์คาร์ (AirCar) หรือรถยนต์บินได้ของบริษัท ไคลน์วิชั่น (KleinVision) เป็นรถบินได้ที่โดดเด่นด้วยลักษณะตัวโครงสร้าง ที่ยังคงความเป็น “รถยนต์” เอาไว้ โดยยังสามารถแล่นไปตามถนนได้แบบรถทั่วไปและสามารถเปลี่ยนเป็นโหมดบินกลางอากาศได้ภายในเวลา 2 นาทีเท่านั้น
สำหรับโหมดบินกลางอากาศ ตัวรถจะกางปีกเครื่องบินออก และใช้ใบพัดด้านหลังช่วยพยุงตัว เพื่อทำการยกตัวรถที่แล่นไปตามรันเวย์ขึ้นสู่อากาศ และเมื่อจะลงจอด ก็จะใช้การลดระดับและค่อย ๆ แตะรันเวย์ คล้ายกับการลงจอดของเครื่องบิน ก่อนจะทำการพับปีกเครื่องบินเก็บ เพื่อกลับมาเป็นโหมดรถยนต์ตามเดิม
ส่วนภายในรถออกแบบให้รองรับได้ 2 ที่นั่งรวมคนขับ สำหรับตัวรถต้นแบบตอนนี้จะใช้เครื่องยนต์ของ บีเอ็มดับเบิลยู (BMW) 1.6 ลิตร 160 แรงม้า (bhp) สามารถบินได้ต่อเนื่องประมาณ 35 นาที ที่ความสูงประมาณ 2,500 เมตร และแล่นบนพื้นด้วยความเร็วสูงสุดที่ประมาณ 190 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
เรียกได้ว่าการเข้าซื้อเทคโนโลยีรถยนต์บินได้ครั้งนี้ ตอกย้ำความสนใจที่เพิ่มขึ้นของจีน ในการบุกเบิกโซลูชั่นการขนส่งทางอากาศ หลังจากประสบความสำเร็จอย่างโดดเด่นในการปฏิวัติรถยนต์ไฟฟ้า (EV)
อย่างไรก็ตาม อาจจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะ กว่าจีนจะนำรถยนต์บินได้มาใช้อย่างแพร่หลาย เพราะยังมีความท้าทายด้านโครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบ และการยอมรับของสาธารณะ รวมถึงการควบคุมการจราจรทางอากาศที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้งานสูงสุด
ข้อมูลจาก interestingengineering, klein-vision, bbc, supercarblondie, nypost